หัวใจของโดมิโน่ ฟิล์ม

หัวใจของโดมิโน่ ฟิล์ม
Making a 4 x 100 Relay Run Film & Breath a New Life of the Text. Forget conventional film adaptation and re-create the magic of Anything Goes Cinema.* * * ครั้งแรกในประเทศไทยที่นักเขียนระดับแนวหน้า รวมใจลงแขกกับนักทำหนังสั้นแบบไม่เกรงใจสูตรคร่ำครึ ปฏิวัติการดัดแปลงวรรณกรรมรูปแบบใหม่ ให้เป็นการด้นเกมแห่งเสียงอักษรไหลสุดขอบจินตนาการภาพ ด้วยโจทย์ต้นเรื่องของนักเขียนที่จุดประกายให้คนทำหนังสั้น 4 คน ต่อ-แต่งเรื่องเล่าตามใจชอบ เกิดเป็นหนังยาว 2 ชั่วโมงในวงเงินเพียง 5 แสนบาท ท้าทายการสร้างหนังในระบบธุรกิจ เพราะทุกคนสามารถมีสิทธิ์สนับสนุนหนังโดมิโน่ ด้วยการร่วมบริจาคทุนสร้าง

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

แผนงาน “ปฏิบัติการหนังโดมิโน่” ของ Filmvirus

แผนงาน “ปฏิบัติการหนังโดมิโน่” ของ Filmvirus
ในโครงการขั้นแรก หนังโดมิโน่จะประกอบไปด้วยหนังจำนวน 3 เรื่อง คือ

1. หนังจากโจทย์ของ แดนอรัญ แสงทอง
2. หนังจากโจทย์ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
3. หนังจากโจทย์ของ อุทิศ เหมะมูล

แต่ละเรื่องกำหนดงบประมาณสร้างไว้ที่ 500,000 บาท (ห้าแสนบาท)
แต่ละเรื่องประกอบด้วยผลงาน 4 ส่วนจากคนทำหนัง 4 คน ซึ่งมาร่วมใจ ต่อ-แต่ง – เพิ่มเติมเรื่องจากโจทย์และตัวละครดั้งเดิมของนักเขียนแต่ละท่าน

หนังเรื่องแรก (หนังโดมิโน่ เรื่องที่ 1) จะเริ่มสร้างจากโจทย์ต้นเรื่องของ แดนอรัญ แสงทอง ซึ่งในกรณีนี้เป็นบทหนังส่วนแรกความยาว 14 หน้า ที่ส่งมอบให้คนทำหนัง 4 คนไปสานต่อเรื่องจนจบเป็นเรื่องยาว

หากผลงานเรื่องแรกลุล่วง และมีทุนสมทบกำลังการผลิต จากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินงานสร้างผลงานอันดับ 2 และ 3 นั่นคือเรื่องที่สร้างจากโจทย์ต้นเรื่องของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ อุทิศ เหมะมูล

ทั้งนี้ในผลงานสร้างลำดับถัดไป ทีมงานผู้กำกับทั้ง 4 คนอาจปรับแปลงจาก 4 คน เป็น 3 คน หรือสลับหน้าตาเป็นคนใหม่ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ความเหมาะสม และความร่วมใจสามัคคี

ระยะเวลาการทำงาน
ติดต่อขอรับทุนจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการขอรับทุนและเปิดรับบริจาคภายในประเทศ

เปิดรับทุนสนับสนุนภายในประเทศ นับจากวันนี้ – 15 มิถุนายน 2554
กำหนดการเปิดกล้อง 1 สิงหาคม 2554
ถ่ายทำเสร็จภายใน 1 กันยายน 2554
ช่วงโพสต์-โปรดักชั่น – 30 พฤศจิกายน 2554
ฉายเผยแพร่ครั้งแรก ภายในเดือน ธันวาคม 2554 ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ปทุมวัน
(หมายเหตุ : กำหนดวันยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น)

แผนการใช้จ่ายงบประมาณ
เนื่องจากงบประมาณ 5 แสนบาท สำหรับการถ่ายทำหนังยาว 1 เรื่องนั้นย่อมไม่ใช่จำนวนที่มาก หากเทียบกับทุนสร้างหนังขนาดเล็กปกติ 15 ล้านบาท หรือหนังของค่ายใหญ่บางแห่ง 30 ล้านบาท-หลายร้อยล้านบาทขึ้นไป จำนวนเงินที่น้อยย่อมมีผลกดดันโดยตรงกับค่าใช้จ่ายในหนังทุกส่วน ตั้งแต่ อัตราค่าแรงทีมงาน นักแสดง ตารางการถ่ายทำแบบจำกัดวัน อุปกรณ์ การประสานงานกองถ่าย ฯลฯ

ดังนั้นเพื่อความซื่อสัตย์ในการจัดสรรค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องเป็นสัดส่วน เกิดความเชื่อมั่นระหว่างทีมงาน โปรดิวเซอร์ และผู้สนับสนุนทุกท่านที่เรายังไม่มีโอกาสได้รู้จักหน้าค่าตา ซึ่งสู้อุตส่าห์ให้ใจกับพวกเรามา ผู้กำกับทั้ง 4 คนจะพกสมุดบันทึกค่าใช้จ่ายของตัวเองคนละ 1 เล่ม โดยที่ทุกคนมีสิทธิ์บริหารเงิน และตรวจสอบบัญชีกับ เหรัญญิกประจำทีมงานฟิล์มไวรัส (โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด) ตลอดกระบวนการผลิต ทั้งนี้ความสามัคคีระหว่างทุกฝ่ายเท่านั้นที่จะทำให้ปัญหาซึ่งเงินอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้หมด สามารถลุล่วงได้โดยตลอดลอดฝั่ง

ลักษณะธรรมชาติของภาพยนตร์ชนิดนี้
ดังที่บางท่านคงทราบดี หรือคงคาดเดาได้ไม่ยากว่า มันแทบเป็นสิ่งเหนือปาฏิหาริย์ที่จะคาดหวังให้คนทำหนังที่มีความแตกต่างกันมาก 4 คน เรียบเรียงเรื่องราวให้ออกมาสมบูรณ์กลมนวลเหมือนหนังที่ออกแบบและกำกับอย่างมีทิศทางชัดเจนเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังต้องถูกคาดหวังให้พยายามถ่ายทอดโจทย์ของนักเขียนต้นเรื่องอย่างซื่อสัตย์ ไม่บิดพริ้วในทุกกระเบียดนิ้ว

ฉะนั้นสิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่าและคนดูน่าจะคาดหวัง ก็คือการเห็นคนทำหนัง 4 คนพาหนังไปถึงจุดที่ไร้กระบวนท่าชนิด “อะไรก็เกิดขึ้นได้” กระตุ้นให้เกิดความรื่นเริงในกระบวนการสร้างดุจเดียวกับการค้นพบเกมใหม่ ใส่ใจกับการค้นหา มากกว่าการค้นพบ ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความสำคัญของการปรึกษาช่วยเหลืองานฉันท์มิตร พยายามรักษาและเคารพต่อองค์รวมทางศิลปะ ซึ่งต้องคงความสัมพันธ์สอดรับกับผลงานของเพื่อนร่วมเกมที่เดินทางร่วมกันมา โดยไม่ต่างกันนักจากหัวใจของดนตรีแจ๊ซ

ข้อเสนอการบริหารเงิน
หากรวบรวมจำนวนเงินได้ไม่ครบ 5 แสนบาท เราจะพยายามติดต่อหาทุนเพิ่มจากแหล่งต่าง ๆ ให้เต็มความสามารถ และหาวิธีทำหนังแบบประหยัดทุนให้ได้มากที่สุด และจะใช้ทิฐิมานะ (ดันทุรัง) เดินหน้าทำหนังต่อไป ซึ่งคงไม่ใช่ลักษณะเต็มสเกลในรูปแบบที่ตั้งไว้แต่แรก สรุป คือเราจะไม่ยกเลิกโครงการแต่เดินหน้าทำหนังเรื่องยาวต่อไป โดยปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นตามเงื่อนไขของงบประมาณและโอกาส ณ ขณะนั้น

ในกรณีของยอดเงินร่วมสนับสนุนเกินหลัก 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 5 พันบาท ตัวเลขจะถูกยกยอดให้เป็นค่าแรงของคนทำหนังทั้ง 4 คน และลูกทีม

ในกรณีของยอดเงินเกินหลัก 5 แสน 5 พันบาทขึ้นไป ตัวเลขจะถูกปันให้เป็นเงินทุนของหนังเรื่องถัดไป นั่นคือผลงานอันดับ 2 และ 3 ในตอนที่สร้างจากโจทย์ต้นเรื่องของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ อุทิศ เหมะมูล

วิธีสนับสนุนโครงการ
คุณ หรือหน่วยงานของท่าน สามารถส่งตัวเลขสมทบทุนโดยการโอนเงินเข้าบัญชีในนาม :
สนธยา ทรัพย์เย็น ธนาคาร ไทยพาณิชย์ สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 183-2-08740-2

หลังจากโอนเงินแล้ว กรุณาส่งสำเนาใบนำฝากแจ้งให้เราทราบทางอีเมล filmvirus@gmail.com (หรือ filmvirus@yahoo.com) หรือ ทางแฟกซ์ที่เบอร์ 02-925-0141, หรือโทรศัพท์แจ้งทางมือถือ 086-490-6295 หลังจากนั้นเราจะบันทึกชื่อของท่านลงบล็อกภายใน 3 วัน นับจากที่ได้รับแจ้ง และอย่าลืมกรุณาระบุ ชื่อ-นามสกุลจริง หรือชื่อของหน่วยงานผู้สนับสนุน พร้อมที่อยู่และเลขที่บัญชี (ในกรณีที่ต้องติดต่อส่งเงินคืนหากทุนสร้างไม่พร้อม) ทางผู้จัดงานขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับทุกท่านที่ร่วมสนับสนุนครับ

การสนับสนุนด้านอื่น
ขณะนี้เรายังต้องการความสนับสนุนในอีกหลายด้าน ทั้งในส่วนของแรงงาน อุปกรณ์ (ขณะนี้ยังไม่มีอุปกรณ์กล้อง) ผู้ร่วมแสดง ทีมงาน และสถานที่ หากใครสนใจช่วยเสริมงานด้านนี้โดยไม่หวังผลตอบแทนนอกจากการรับประทานข้าวหม้อเดียวกัน สามารถติดต่อเราได้เช่นกัน

(โปรดติดตามอ่านรายนามผู้ร่วมลงทุนที่จะนำมาทยอยลงที่ด้านล่างบล็อกนี้)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น