หัวใจของโดมิโน่ ฟิล์ม

หัวใจของโดมิโน่ ฟิล์ม
Making a 4 x 100 Relay Run Film & Breath a New Life of the Text. Forget conventional film adaptation and re-create the magic of Anything Goes Cinema.* * * ครั้งแรกในประเทศไทยที่นักเขียนระดับแนวหน้า รวมใจลงแขกกับนักทำหนังสั้นแบบไม่เกรงใจสูตรคร่ำครึ ปฏิวัติการดัดแปลงวรรณกรรมรูปแบบใหม่ ให้เป็นการด้นเกมแห่งเสียงอักษรไหลสุดขอบจินตนาการภาพ ด้วยโจทย์ต้นเรื่องของนักเขียนที่จุดประกายให้คนทำหนังสั้น 4 คน ต่อ-แต่งเรื่องเล่าตามใจชอบ เกิดเป็นหนังยาว 2 ชั่วโมงในวงเงินเพียง 5 แสนบาท ท้าทายการสร้างหนังในระบบธุรกิจ เพราะทุกคนสามารถมีสิทธิ์สนับสนุนหนังโดมิโน่ ด้วยการร่วมบริจาคทุนสร้าง

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ศิลปกรรมหนังโดมิโน่

หนังโดมิโน่กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมงานถ่ายทำ คาดว่าหากไม่ติดปัญหาน้ำท่วมหรืออื่น ๆ คงจะเริ่มถ่ายทำได้ในเดือนธันวาคม

(ภาพประกอบ- จากภาพศิลปะของ วชร กัณหา 1 ในสมาชิกทีมสร้างหนังโดมิโน่ ซึ่งภาพนี้จะใช้ประกอบฉากในเรื่อง)

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

ปิดออฟฟิศโดมิโน่

คืนพื้นที่ ปิดออฟฟิศหนังโดมิโน่

หอศิลป์กรุงเทพ ฯ อนุญาตให้ใช้ 20 วัน
แล้วค่อยหาที่ทำงานใหม่ต่อไป



วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โดมิโน่รวมตัวอีกครั้ง


จารึกไว้ว่า วันพฤหัสที่ 18 สิงหาคม 2554 :

ทีมงานหนังโดมิโน่ ได้นัดรวมตัวประชุมครบองค์ประชุม 4 คน เป็นครั้งแรกในรอบเดือน หลังจากนี้งานคงจะได้เริ่มเดินหน้าแล้ว

ขณะนี้ ค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มวางแผนงานยังเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของทีมงานแต่ละคน และยังไม่มีการเบิกค่าใช้จ่ายทุนสร้างที่ได้รับมาจากทุกท่านแต่อย่างใด

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เปิดออฟฟิศชั่วคราวหนังโดมิโน่ - Domino Film Office

ด้วยความเอื้อเฟื้อของ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ได้เอื้อเฟื้อให้ทีมหนังคนยากได้มีห้องทำงานใจกลางเมืองหลวง ณ สี่แยกปทุมวัน เป็นเวลา 1 เดือน จึงขอแสดงความขอบคุณมา ณ ที่นี้

แม้การทำหนังเรื่องยาวด้วยเงินเพียง 1 แสนกว่าบาทจะเป็นเรื่องพิสดารไกลปืนเที่ยง แต่ทีมงานหนังโดมิโน่ก็จะก้าวต่อไปข้างหน้าตามแผนเดิม

(คุณ สุชาติ สวัสดิ์ศรี 1 ในนักเขียนโดมิโน่ / ศิลปินทัศนศิลป์ และบรรณาธิการ "ช่อการะเกด" ให้เกียรติเยี่ยมชม)

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

We Can’t Go Home Again


เป็นที่แน่นอนว่าทุนเกาหลีไม่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม และบริษัทกระทรวงทบวงกรมก็ไม่สนับสนุนเรา ทีมงานหนังโดมิโน่ ขอตัดสินใจดับเครื่องชนนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะเริ่มปฏิบัติงานพัฒนาบทหนังภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเตรียมตัวถ่ายทำหนังทุนกระจิบของเราภายในเดือนตุลาคมเป็นอย่างช้า จึงเรียนมาเพื่อทุกท่านทราบ

ลำดับต่อไป ได้แต่หวังว่าบริษัทกล้องจะเอื้อเฟื้อให้เรายืมกล้องและอุปกรณ์ในการถ่ายทำ

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แจ้งทุกท่านทราบ

แจ้งทุกท่านทราบ

เงินบริจาคที่ทุกท่านมอบให้โครงการหนังโดมิโน่และรวบรวมได้ในขณะนี้ประมาณ 1 แสน 4 พันกว่าบาทนั้น ทางทีมงานขอน้อมรับไว้ด้วยความขอบคุณยิ่ง (ติดตามคลิ้กดูยอดเงินปัจจุบันได้ที่ลิ้งค์ด้านล่าง http://dominofilm.blogspot.com/2011/04/supporters.html)

บัดนี้ทางทีมงานขอแจ้งให้ทราบว่า เรายังพยายามติดต่อหาเงินทุนสมทบจากเอกชนและองค์กรต่าง ๆ อยู่ไม่เลิกรา แม้ว่าความหวังจะมีน้อยนัก แต่เราก็จะรอต่อไปจนถึง 31 กรกฎาคมนี้ อย่างน้อยก่อนต้นเดือนสิงหาคม เราคงจะทราบผลเงินทุนเกาหลีที่เรารอคอย หากถึงวันนั้นสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็เป็นที่แน่นอนว่าเราต้องพยายามบริหารเงินทุน 1 แสนกว่าบาท หรือเท่าที่มีในวันนี้ ให้ออกมาเป็นหนังที่ดูดีที่สุด

ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบหรือความช่วยเหลือจากจากจังหวัดเพชรบุรี หรือจากหน่วยงานใด ๆ ในกรุงเทพ ฯ ผลบวกประการเดียวที่ดูมีความหมายและสมเหตุผลที่สุด ณ เวลาปัจจุบันยังคงเป็นการกึ่งตกลงชั้นแรกในข้อเสนอที่เรายื่นให้กับทางลพบุรี นั่นคือส่วนของการเอื้อเฟื้อที่พักและบริการรถตู้ 1 คัน (ในช่วงเวลาจำกัดที่ต้องตกลงกันเพิ่มเติมในรายละเอียด) ทั้งนี้ทางทีมงานยังต้องปรึกษาหารือกันต่อไปว่าจะเลือกถ่ายทำที่ใดที่เหมาะสมกับทุกคน รวมถึงเรื่องของลักษณะแผนงานที่จะเริ่มเป็นรูปธรรมในเดือนสิงหาคม

หากผู้ใดสนใจเอื้อเฟื้อห้องเปล่า พร้อมน้ำไฟ สำหรับเป็นสำนักงานโดมิโน่ชั่วคราว เป็นเวลา 1 หรือ 2 เดือน กรุณาแจ้งให้ทราบด้วยจะเป็นพระคุณมาก

ทีมงานผู้จัดทำหนังโดมิโน่

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นัดคุยทุนโดมิโน่ ลพบุรี


ทุนหนังโดมิโน่ นัดคุยกับ ททท ลพบุรี วันศุกร์นี้ 10 โมงเช้า

หากใครต้องการช่วยเหลือด้านโลเกชั่น เงินสนับสนุน เครื่องมือ และนักแสดง โปรดติดต่อเรา

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลพบุรี - หาทุนต้องรอภาคต่อ


กลับจากลพบุรีมือเปล่า

ทุนหนังโดมิโน่ยังไม่คืบหน้า

แต่อาทิตย์หน้า จะพยายามนัดพบท่านผู้บริหารอีกครั้ง

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ของเหลวแห่งแสงอันเป็นภัยใกล้ตัวของยายหมอน

ของเหลวแห่งแสงอันเป็นภัยใกล้ตัวของยายหมอน
โดย Filmsick

(บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Vote ติดต่อกัน 3 ฉบับระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2554)


ยายหมอนนั้นอาศัยอยู่ในสลัมซึ่งข้างๆ บ้านของแกนั้นเป็นที่รกร้าง แกเรียกมันว่าเป็นสวนของแก สวนซึ่งบางวันคนข้างบ้านก็มาเล่นเป็นนายทหารต่อต้านสงครามอิสราเอล ปาเลสไตน์ วันหนึ่งยายหมอนพบว่าข้างบ้านแกมีคนมาสร้างพิพิธภัณฑ์อะไรก็ไม่รู้ในชั่วข้ามคืน ตั้งชื่อว่า พิพิธภัณฑ์แห่งแสง แต่ในพิพิธภัณฑ์กลับมืดสนิท ยายหมอนเดินเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โดยการคลำทางไปในความมืด มีแสงไฟฉายส่องใบหน้าของแกที่เดินเข้าไปในความมืด แกหลงทางวนเวียนอยู่ในนั้น แล้วกลับมาโผล่ออกที่ดอนเมือง โดยไม่รู้ตัว การท่องพิพิธภัณฑ์ของแกโดนบันทึกภาพไว้โดยนักศึกษาคนหนึ่ง เขาเอาเรื่องของแกไปตัดต่อเป็นหนังสยองขวัญส่งอาจารย์ โดยทำลายขนบหนังสยองขวัญทั้งหมดที่เคยมีลง ผลก็คืออาจารย์โมโหมากไอ้เด็กสอนไม่รู้จักจำ อาจารย์เผลอหลุดสบถ ขณะคอมเมนท์งานซึ่งไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะแกคันคะเยอจากอาการผื่นแพ้ หรือเพราะโมโหกันแน่ อาจารย์คอมเมนท์ทุกฉากในหนังเรื่องนั้น คอมเมนท์ดุเดือดจนน่าตระหนกตกใจราวกับแกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ หลังเสร็จงานอาจารย์ไม่สามารถทนอาการคันคะเยอได้อีกต่อไป เขาไปพบหมอผู้ซึ่งบอกว่าปัญหาของเขาเกิดจากภาวะภูมิไวเกินต่อสารคัดหลั่งของชายคนรัก นั่นยิ่งทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างแย่ลง หนังแย่ยายแก่ของลูกศิษย์ที่เขาไม่ชอบหน้า อาการคันคะเยอไม่รู้จบ คนรักที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงบ่ายเบี่ยงไม่ยอมมีอะไรด้วยทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก ถึงที่สุดอาจารย์คนดังกล่าวจึงออกไปข้างนอกและถูกงูผีกัดตาย

ข้างบนนั่นไม่ใช่เรื่องย่อของหนังสั้นเรื่องใหม่ของใครทั้งสิ้น หากมันคือการจับเอาหนังสั้นจำนวนหนึ่งของผู้กำกับ 4 คนที่เรากำลังจะกล่าวถึงมายำร้อยเรียงรวมกัน แถมด้วยบางฉากบางตอนจากบทประพันธ์ของนักเขียนนามอุโฆษ 5 ท่าน คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, แดนอรัญ แสงทอง, อุทิศ เหมะมูล, ปราบดา หยุ่น และ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนนามอุโฆษเหล่านี้ผู้ซึ่งจะมอบต้นฉบับมาเป็นหัวเชื้อในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แบบโดมิโน อันหมายความว่าผู้กำกับทั้งสี่ (เจ้าของหนังสั้นที่เรายืมพล็อตมาเรียงใหม่ด้านบน) จะลงมือร้อยต่อเรื่องราวจากต้นทางสร้างขึ้นเป็นหนังส่วนแรกและส่งไม้ต่อไปให้ผู้กำกับคนต่อไปได้สานเรื่องเดิมต่อจนกลายเป็นหนังยาว 1 เรื่อง ภายใต้กรอบจำกัดของตัวละครชุดเดิม แต่เรื่องสามารถขยายออกไปได้หลากมิติ เราเรียกโปรเจคต์นี้กันสั้นๆ ว่า โดมิโปรเจ็คต์ ซึ่งทุกท่านสามารถอ่านเกี่ยวกับโปรเจ็คต์ดังกล่าว รวมถึงร่วมมือลงขันสนับสนุนโปรเจ็คต์นี้ได้ที่บล็อกนี้ http://dominofilm.blogspot.com/ หรือโทร ฟิล์มไวรัส – 086-490-6295, 02-925-0141

แต่หากประวัติของผู้กำกับที่คุณได้จากข้อมูลในบล็อกของโปรเจ็คต์ยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ ผมขออนุญาตรับหน้าที่ขยายความถึงความน่าสนใจของผู้กำกับแต่ละคนที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน แต่ได้มาวนเวียนมีส่วนร่วมอยู่ในงานชิ้นนี้

ของเหลวที่หลั่งจากจักรวรรดิทางภาษาของชุติมา

เด็กผู้หญิงที่ค้นพบว่าย่าสั่งซื้อดิลโดทางไปรษณีย์ และได้รับค่าจ้างจากคุณย่าในการทำให้นางอิ่มซึ้งถึงเพศรส เด็กสาวที่นอนกับผู้ชายไปทั่ว และแทนที่จะรับค่าจ้างกลับยินดีจ่ายให้ชายที่มานอนกับเธอ เธอแท้งตอนเคารพเพลงชาติและไม่ได้ยี่หระกับคุณค่าความเป็นหญิงอื่นใด ศิลปินสาวแม่นางแก้วมังกรที่เปิดบ้านให้ผู้ชมได้พบกับงานศิลปะชิ้นใหม่นั่นคือการเดินเข้ามารับชมเธอ, ศิลปินกระทำการช่วยตัวเอง หรือคู่รักชายชายที่กำลังเจอมรสุมชีวิตรักเนื่องจากฝ่ายหนึ่งเกิดอาการผื่นแพ้รุนแรงต่อสารคัดหลั่งจากร่างกายของอีกฝ่ายหนึ่ง เหล่านี้คือบรรดาตัวละครพิลึกพิลั่นของรัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค

ผู้หญิงและประเด็นทางเพศของเธอ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหนังของรัชฎ์ภูมิมาตลอด ตัวละครหญิงของเขาก้าวข้ามเส้นขีดแบ่งทางศีลธรรมอย่าสนุกสนานและไม่ยี่หระใน ‘Ma vie incomplet et inachevee’ ที่เล่าเรื่องแบบสุดกู่ ทั้งการมีเซ็กส์กันในครอบครัว การมีเซ็กส์ของเด็กและคนแก่ อาการวิปริตของผู้คนในครอบครัว แถมทั้งหมดยังมาในรูปอนิเมชั่นสีสันสดใส พากย์เสียงภาษาฝรั่งเศส ส่วน ‘ชุติมา’ มีพล็อตว่าด้วยสาวสกอยท์กับความเป็นหญิงขาย(ซื้อ)บริการและความเป็นแม่ของเธอ ส่วน ‘ออกเสียงไม่ได้ในจักรวรรดิทางภาษาของคุณ’ ก็ล้อเล่นกับพรมแดนของศิลปะและความเป็นหญิง กระทั่งใน ‘ของเหลวที่หลั่งจากกาย’ หนังยาวสำหรับจบการศึกษาของรัชฏ์ภูมิ ที่มีตัวละครหลักเป็นคู่รักเกย์ เรายังสามารถพบเจอตัวละครหญิงอย่างคุณหมอในชุดส่าหรีเก๋ไก๋ ที่ก้อร่อก้อติกคนไข้แบบเปิดเผยตรงไปตรงมา ไหนจะการ ‘แฉนางชี’ที่ทนทุกข์เพราะบังเกิดความใคร่ในสถานภาวนาอีกเล่า!

แน่นอนว่านี่สุ่มเสี่ยงจะเป็นเพียงแฟนตาซีเพ้อฝันของผู้ชาย แต่ในทุกตัวละครหญิงของรัชฏ์ภูมิล้วนไม่มีประนีประนอม พวกเธอก้าวล้ำข้ามเส้นโดยไม่ได้เป็นตัวตลกเปิ่นเป๋อ (มันจะถูกนำเสนอออกมานเชิงขบขัน) ในทางตรงกันข้ามการกระทำของพวกเธอนั้น เข้าขั้นท้าทายการรับรู้ความเป็นหญิงของสังคมหลัก การนิยามเป้าหมาย หน้าที่ของความเป็นหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่รัชฏ์ภูมิสนใจเป็นอย่างยิ่ง

หากเลยพ้นไปจากหนัง ตัวหนังสั้นของรัชฏ์ภูมิยังเกาเกี่ยวอยู่กับสุนทรียศาสตร์พิศวงผิดที่ผิดทางอีกด้วย ในหนังของเขามีทั้งอาการแผ่นกระตุกโดยตั้งใจที่ส่งผลไปถึงชีวิตตัวละคร มีสิ่งประหลาดๆ อย่างเช่นการตัดต่อที่ไม่เนียนโดยจงใจให้เห็นว่าเป็นหนัง การที่ตัวละครพากันทำกิจกรรมพิลึกพิลั่น อย่างไร้ที่มาที่ไปไร้เหตุไร้ผล ไม่เกี่ยวข้ออันใดกับตัวเรื่อง หรือกระทั้งฉากแทรกสอดที่โผล่พรวดเข้ามากลางเรื่องแล้วจากไปโดยไม่บอกกล่าว (เช่นอยู่ดีๆกล้องก็ถ่ายตัวละครผ่านการเทน้ำใส่แก้วทีละน้อยจนเต็ม หรือการที่ภาพเขียนที่ฝาผนังเคลื่อนขึ้นลงไปมาซ้ายทีขวาทีในทุกครั้งที่มีการตัดต่อ) การแสดงให้เห็นว่าเป็นหนัง การเอาแน่เอานอนออะไรไม่ได้ การเอาแต่ใจในตัวเรื่องทำให้หนังของรัชฏ์ภูมิดูเหมือนจะจู่ๆ สร้างเรื่องเล่าซ้อนเป็นฟิล์มบางๆ อีกชั้นขึ้นเคลือบคลุมชั้นของตัวเรื่องเดิม นั่นคือการถามหาตำแหน่งแห่งที่ในความเป็น ‘แค่เรื่องเล่า’ ของตัวเรื่องเล่านั้นเอง

ฆาตรกรรมสวาทประหลาดเปรูทำให้ซาตานหายตัวไปในพิพิธภัณฑ์แห่งแสง

เฉลิมเกียรติ แซ่หย่องเริ่มปรากฏตัวในเทศกาลหนังสั้นสองปีก่อนกับหนังประหลาดๆที่ชื่อ PERU TIME (กู่ก้องร้องบอกรักนิรันดร)ที่เป็นเพียงการถ่ายภาพของทุ่งหญ้าริมทางอันมีปั้นจั่นยักษ์เคลื่อนไหวอยู่ไกลๆ กล้องตั้งนิ่งยาวนานตลอดเวลาเกือบแปดนาที ฉากเดียวเดี่ยวโดดแทรกด้วยการขึ้นตัวหนังสือภาษาต่างดาววกไปวนมา หนังทำให้หลายคนเหวอ หลายคนปฏิเสธ และหลายคนตื่นเต้น ตามด้วย ‘ฆาตรกรรมสวาท ประหลาดน่านฟ้า ทำให้คนหายตัวไป’ หนังยอกย้อนซ่อนกลที่อุดมไปด้วยการขึ้น text แสร้งให้เห็นว่าห้องน้ำมหาวิทยาลัย เป็นห้องน้ำในสนามบินสุวรรณภูมิ เด็กนักศึกษาเป็นแอร์โฮสเตส และเล่าคดีฆาตกรรมลึกลับกับแบบต่อหน้าต่อตาโดยผ่านการขึ้นข้อความขึ้นซับไตเติ้ล สับสนวกวนยอกย้อน ในปีต่อมา เฉลิมเกียรติไปไกลมากขึ้นด้วย ‘คำพิพากษาของซาตาน’ หนังที่เล่าเรื่องเขาพระวิหาร สัตว์สูญพันธ์ กรณีพิพาทเหลืองแดง โดยอาศัยภาพแทนประหลาดๆ อย่างเช่นชายผู้ถูกยิงตายในทุ่งร้างข้างบิ๊กซี (ขึ้นข้อความว่าประเทศในแถบอเมริกาใต้) หรือเด็กหนุ่มสาวในห้องโรงแรม คุณป้ารีดผ้า สลับกับข้อความจากเวบบอร์ดในเรื่องต่างๆ และคำอธิบายเกี่ยวกับสัตว์สงวนปรากฏเป็น text ซ้อนมา ใน ‘สถานต่างอากาศ’ เขาถ่ายภาพโฮมวีดีโอโดยใช้กล้องทุกรูปแบบที่หาได้ และในสารคดี ‘บางคนที่ตกค้างอยู่ในความทรงจำ’ เฉลิมเกียรติทำสารคดีเกี่ยวกับดอนเมือง โดยขึ้นเป็น text ให้ทุกคนอ่านจนจบ แนบบทสัมภาษณ์ในครึ่งแรก ก่อนที่ครึ่งหลังหนังจะเป็นเพียงภาพล้วนๆของการหวนหาอาลัย ทั้งสถานที่ ผู้คน ความทรงจำซึ่งในเวลาต่อมาเขาให้สัมภาษณ์ว่า เขาทำหนังเรื่องนี้เพราะในช่วงเวลานั้นพ่อกับแม่ของเขาได้ขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกในชีวิต ขณะเดียวกันหญิงสาวที่เขาเคยแอบชอบ มีความใฝ่ฝันจะเป็นแอร์โอสเตส หนังจึงกลายเป็นภาพของความทรงจำอันแสนหวาน แตกหักกับงานสารคดีที่ท้าทายขนบสารคดีในคราวเดียว และล่าสุดใน พิพิธภัณฑ์แห่งแสง เฉลิมเกียรติใช้ความมืดเป็นแก่นแกนหลักในการฉายภาพผู้คนที่พากันไปส่องไฟฉายดูพิพิธภัณฑ์แสงในความมืดมิด การเล่นซ้ำไปซ้ำมาของฟุตเตจเดิมสลับตำแหน่งแห่งที่ และความมืดอันเข้มข้น

อาจจะบอกได้ว่าเขาทำหนังประหลาด ที่ดูเหมือนคนทำหนังไม่เป็น การขึ้นข้อความแทนการลำดับภาพอาจทำให้ใครต่อใครพากันมองว่าหนังของเฉลิมเกียรตินั้นอ่อนด้อย หากสิ่งที่น่าสนใจในหนังของเฉลิมเกียรติก็คือการเล่นกับตัว text นั้นอยู่เอง ขอบเขตของ text ในสื่อภาพยนตร์ text ของเฉลิมเกียรติ เป็นทั้งผู้เล่า ในขณะเดียวกันก็รับหน้าที่ดึงคนดูออกจากการเล่า text ในฆาตรกรรมสวาท ทำหน้าที่บอกตำแหน่งแห่งที่ เล่าเรื่อง ขณะเดียวกันก็ยั่วล้อตัวมันเอง (เช่นการขึ้น text ให้เห็นว่านี่เป็นแผ่นผีจากร้านดีวีดี) ขณะที่ คำพิพากษา text สร้างเรื่องเล่าอีกชุดซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกันกับภาพที่กำลังรับชมและไม่ได้มีหน้าที่สร้างเรื่องเล่าให้ภาพด้วยซ้ำ เป็นเพียงการปรากฏซ้อนของถนนสองสายที่มาบรรจบกันกลายเป็นการตีความใหม่ ก่อนที่มันจะไปสุดทางใน บางคนที่ตกค้างในความทรงจำ ที่เปิดเผยให้เห็นว่า text คือปัญหาที่ควรขจัดออกไป กล่าวให้ถูกต้องถ้า text ในหนังเฉลิมเกียรติคือตัวเล่าเรื่อง ซึ่งการเล่าเรื่องไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่คือปัญหากีดขวางการใช้ภาพของเขา

หนังของเฉลิมเกียรติมักชวนพิศวงงงวย มันมีความเป็นหนังการเมือง (หนังหลายเรื่องของเขาซ่อนนัยยะทางการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ) แต่ก็มีความเป็นหนังทดลอง มีความเป็นหนังนักศึกษาที่ทำหนังไม่เป็น กับหนังของคนทำหนังที่พยายามไปให้พ้นจากกรอบข้อบังคับของความเป็นหนัง ระหว่างความอ่อนด้อยในการเล่ากับความกล้าหาญท้าทาย นั่นคือที่ที่หนังประหลาดของเฉลิมเกียติ กู่ก้องร้องบอกรักความทรงจำที่มีต่อผู้คน ภาพนิ่งเฉย และบรรยากาศลึกลับที่หาชมได้ยากยิ่ง

ความทรงจำเกี่ยวกับภัยใกล้ตัวของเจ้าหญิงนิทราที่ร้องคาราโอเกะเพลงบ้านทรายทองในร้านแถบหัวลำโพง

นี่คือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังของจุฬญานนท์ ชายชราถ่ายรูปตัวเองที่สถานีรถไฟหัวลำโพง คนรับใช้ชาวพม่าห่อแหนม ผู้คนในบ้านพากันหลับใหลไปหมด วัตถุทรงกลมหน้ากล้องที่อาจจะมาจากแสงสะท้อน ข้อสอบที่เอามาขึ้นจอกันให้ลองทำเล่นๆ คาราโอเกะ และภาพขาวดำถ่ายชุมชนนางเลิ้ง ภาพของจุฬญานนท์ไม่อาจเป็นหลักประกันต่อเรื่องที่เขาเล่าได้จริงๆ หรอก เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดูหนังของจุฬญานนท์คือการปะทะสังสรรค์ของจินตนาการจากภาพที่เรามองเห็นต่างหาก

เราอาจแบ่งหนังจุฬญานนท์คร่าวๆ ได้เป็นสองช่วง ในหนังช่วงแรกที่เขาทำสมัยอยู่มัธยมอย่าง หัวลำโพง หนังสังเกตการณ์ชายชราคนหนึ่งที่มาถ่ายภาพตัวเองที่หัวลำโพง บ้านทรายทอง เรื่องเล่ากึ่งสารคดีที่รีเมคบ้านทรายทองใหม่โดยใช้คนในครอบครัวของเขามาเป็นนักแสดง แล้วยังถ่ายทำอยู่ในบ้านของตัวเอง และ เจ้าหญิงนิทราที่เป็นเหมือนการบรรจบระหว่างหัวลำโพงกับ บ้านทรายทอง เมื่อเขาทำเพียงแค่แอบถ่ายชีวิตประจำวันของคนในบ้าน แอบถ่ายคนในครอบครัวนอนหลับ และปล่อยให้ผู้ชมร่างเรื่องราวขึ้นมาเองในหัว หนังในยุคนี้ของจุฬญานนท์เป็นภาพสังเกตที่สามัญ ภาพที่ปะปนระหว่างการแอบถ่ายกับการจัดเรื่องจัดราวนิดหน่อย (ในบ้านทรายทอง เขาให้คนรับใช้ชาวพม่ามารับบทพจมาน และเอาพ่อของเขาเองมาเล่นบทชายกลาง อาการประดักประเดิดเขินกล้องของตัวละครถูกบันทึกเอาไว้ด้วย และคนดูก็ต้องประดอบสร้างเองว่าใครเป็นใครในบ้านทรายทองนี้) ภาพการสังเกตของจุฬญานนท์ อาจดูเหมือนไม่มีอะไรพิสดารพันลึกแต่การทิ้งพื้นที่โดยมีลายแทงเป็นชื่อเรื่องทำให้ผู้ชมค่อยๆสานเสริมเติมต่อจินตนาการเกี่ยวกับเรื่องเล่าขึ้นมาเองจากภาพที่มี

ในช่วงเวลาต่อมาจุฬญานนท์เริ่มเข้าสู่การเป็นหนังทดลองมากขึ้น เริ่มจากงานกึ่งวีดีโออาร์ตอย่างวัตถุทรงกลมที่เพียงถ่ายแสงสะท้อนจากหน้ากล้อง จนมาถึง ภัยใกล้ตัว(ฉบับผู้กำกับ) หนังที่กล้าหาญร้ายกาจที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา หนังแสดงภาพความอึดอัดขัดข้องที่เขามีต่อระบบการศึกษาภาพยนตร์ในเมืองไทยด้วยการเอาหนังที่เขาทำส่งครูมาใส่คอมเมนต์ทั้งหมดทั้งหมดที่ครูคอมเมนท์มา ในทุกๆ ฉาก ตัวหนังสือข้อคอมเมนต์ของอาจารย์จะขึ้นมาชี้ช่องให้ผู้ชมเห็น ตัวหนังเป็นทั้งการตบตีต่อขนบของการทำหนังที่น่าเบื่อ คาดเดาได้ ในขณะเดียวกันมันคือการตอบโต้ต่อระบบการเรียนการสอนที่ปิดกั้นจินตนาการผู้คนอย่างร้ายกาจ หนังจบลงด้วยภาพรูปนักศึกษาของเขาเองที่ค่อยๆไหม้ไฟไปทีละน้อย

หนังในช่วงหลังของจุฬญานนท์ขยับขยายมาสู่แง่มุมทางการเมืองมากขึ้น คาราโอเกะเพลงแผ่เมตตาเป็นการแสดงมุมมองทางการเมืองต่อเสื้อสองสีที่หยิบมาเสียดสีได้อย่างขบขัน (แม้อาจจะชวนให้รู้สึกถึงความไร้เดียงสาอยู่บ้าง) หากใน แบบทดสอบวิชาการเมืองไทยร่วมสมัย จุฬญานนท์ก็ร้ายกาจพอจะโยนคำถามแสบทรวงใส่หน้าผู้ชมโดยการทำหนังให้เป็นเหมือนพาวเวอร์พอยท์ข้อสอบ ว่าด้วยการเมืองไทยร่วมสมัย ก่อนที่เขาจะทำสารคดีที่หนักหน่วง ร้ายกาจและทรงพลังอย่าง ประวัติย่อของความทรงจำ ใครคนอื่นอาจทำเรื่องเสื้อเหลือง เรื่องซ่าหริ่ม เรื่องเสื้อแดง แต่จุฬญานนท์กลับเลือกสัมภาษณ์แม่คนหนึ่งในชุมชนนางเลิ้ง (หนังทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลของชุมชนนางเลิ้ง) ที่ลูกชายของเธอถูกเสื้อแดงยิงตายในสงกรานต์เลือด ภาพของชุมชนนางเลิ้งสีขาวดำ ถูกสอดแทรกด้วยวัตถุทรงกลมประหลาดประดุขภาพวิญญาณล่องลอยไปมา ประกอบเสียงการสัมภาษณ์ที่หนักหน่วงตราตรึงทรงพลังซึ่ไม่ได้กล่าวโทษทางการเมืองต่อผู้ใด หากเป็นเสียงสัมภาษณ์ของหญิงคนหนึ่งที่เธอสูญเสียลูกเธอไปแล้ว นับเป็นการย้อนรอยทุกสีเสื้อได้อย่างกล้าหาญยิ่ง

กล่าวอย่างถึงที่สุดหนังของจุฬญานนท์ จึงเป็นภาพรวมของการทดลองทางภาพ การเปิดพื้นที่โล่งทางจินตนาการ ขณะเดียวกันก็แหลมคมในการวิพากษ์วิจารณ์จนเราต้องจับตาเขาไว้ให้แม่นมั่นจริงๆ


สุดถวิลหาคำพิพากษาอันเฟื่องฝันของแกะแดงในดวงจันทร์

วชร กัณหาเพิ่งทำหนังจริงจังได้ไม่กี่ปี แต่ในไม่กี่ปีที่ว่าเขากลับทำหนังออกมาจำนวนมาก ทั้งการไปช่วยคนอื่น ทำหนังของตัวเอง หรือไปเล่นหนังให้คนอื่น รวมไปรวมมาอาจจะเกือบสามสิบเรื่องและยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราเร่งที่น่าตื่นเต้น!

วชรทำมาหมดแล้ว หนังสยองขวัญฆาตกรโรคจิต หนังแอคชั่นยากูซ่าแบบญี่ปุ่น หนังดราม่า หนังรักวัยรุ่นเด็กแนว หนังสารคดี หนังการเมือง หนังทดลอง หนังบ้านๆ หนังไซไฟ วชรใช้ทรัพยากรที่หาได้ในการค้นลึกลงไปในโลกภาพยนตร์ด้วยตัวเขาเอง แม้หนังของวชร อาจจะไม่ใช่หนังที่มีโปรดักชั่นชั้นเลิศ และยังอาจะมีความหนืดหน่วงในการตัดต่อ ซ้ำยังแสดงภาพการร่อยหรอของทุนอออกมาอย่างชัดเจน แต่ยิ่งดูหนังของเขาไปเรื่อยๆ เราก็ยิ่งเห็นความพยายามอันน่าทึ่งของคนรักหนังที่จะทำความเข้าใจกับหนังแบบต่างๆ จากการเลียนแบบฉากแบบพื้นๆ ค่อยผสมกับความพลุ่งพล่านของตัวเขาเอง และก่อรูปเป็นหนังที่รสประหลาด ไม่กลมกล่อมแต่ก็ไม่ใช่รสชาติแบบที่เราจะหาได้ทั่วไป

วชรเป็นสมาชิกหนึ่งในสามของสำนักงานใต้ดิน กลุ่มเพื่อนที่รวมตัวกันทำหนังอย่างไม่บันยะบันยัง อีกสองคนที่เหลือของสำนักงานใต้ดินคือ ธีรนิต์ เสียงเสนาะ ธนิ ฐิติประวัติ หนังของพวกเขามีทั้งที่ช่วยกันทำ กำกับร่วม ผลัดกันเล่น จนถึงหนังเดี่ยวของแต่ละคน ด้วยปริมาณ และรสชาติในหนังเหล่านี้ เราพอจะบอกได้อย่างไม่ขัดเขินว่านี่คือกลุ่มคนทำหนังที่พลุ่งพล่านที่สุดกลุ่มหนึ่งของไทยในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

ใน ‘เฟื่อง’หนังเรื่องดังที่สุดของพวกเขา เป็นหนังที่เหมาะเจาะกับการเปิดตัวให้รู้จักพวกเขา คนหนุ่มในห้องเช่ามืดๆ สุมหัวกันอ่านบทกวี ฟังเพลงร๊อค วาดรูป เล่นละคร เฟื่องแทบไม่ประนีประนอมต่อผู้ชม มันคือการประกาศการมาถึงของกลุ่มคนหนุ่มที่เร่าร้อนด้วยแรงปรารถนาทางศิลปะ สับสนอ่อนไหวต่อการเข้าใจโลก และพวกเขากำลังจะระเบิดพลังออกมา ใน ‘แกะแดง’ พวกเขาก็ทำแบบนั้นอีกเช่นกัน คนหนุ่มในห้องเช่าในวันที่มีการ ‘ขอคืนพื้นที่’จากผู้ชุมนุม แกะแดงพลุ่งพล่านไปด้วยความแค้นเคืองเคียดขึ้งที่พวกเขามีต่อเหตุบ้านการเมือง และพวกเขาเหวี่ยงทุกอย่างลงต่อหน้ากล้อง ระบายความเกรี้ยวกราดอย่างไม่ปรานีปราศรัย

หนังสองเรื่องนี้พอจะบอกเล่าภาพของสำนักงานใต้ดินได้เป็นอย่างดี ถึงที่สุดพวกเขาจะมีลีลาในการทำหนังที่แตกต่างกันไปและน่าตื่นเต้นไปคนละแบบก็ตามแต่ในที่นี่ขออนุญาติพูดถึงเฉพาะหนังของวชร แต่เพียงเท่านั้น

หนังของวชร มีตั้งแต่ BLUE BLANK หนังไซไฟเกี่ยวกับนักสืบที่ต้องขึ้นรถไฟไปลบความทรงจำ หนังสะท้อนนัยทางการเมืองเข้มข้นเช่นเดียวกับ เชลยแห่งความรัก ที่เอาจำเลยรักมาดัดแปลงแต่งเสริมให้เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่ล่ามโซ่หญิงสาวชุดแดงไว้ในห้องของโรงแรมตัสลับกับภาพของกะเทยนางหนึ่งร้องเพลงอยู่ในห้องปิดและซากปรักหักพัง ใน’พายายหมอนไปชมสวน’ วชรตัดสลับระหว่างภาพแอบถ่ายพ่อของเขาออกกำลังกาย ยายหมอนในสวนซึ่งเป็นพื้นที่รกร้างทิ้งขยะข้างบ้าน ตัดสลับกับการถ่ายวิดีโอชายคนหนึ่งที่แสดงตัวว่าเป็นนักรบต่อสู้เพื่อปาเลสไตน์

เลยพ้นไปจากหนังการเมือง วชร ทำหนังอย่าง ‘คำพิพากษาของความรัก’ หนังประหลาดว่าด้วยชายคนหนึ่งที่ฆาตกรรมชายคนรักของตนแล้วเอาไปฝังในป่า หนังมีทั้งส่วนที่เป็นหนังเท่ๆ แบบหว่องกาไว หนังมืดสนิทชวนผวาหวั่นแบบ เดวิด ลินช์ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงท้ายที่อบอุ่นงดงามและชวนสะพรึงเศร้าสร้อย ในขณะที่ ‘สุดถวิลหา’ อัดแน่นไปด้วยพลังของการไขว่คว้าทางศิลปะการตัดต่อแบบไม่ประนีประนอมระหว่างช็อต ภาพ ฉากหลังที่เป็นเอฟเฟคต์มลังเมลืองแบบบ้านๆ การสร้างภาพขึ้นจากเพลงที่บันดาลใจ มันคือการตัดต่อร่วมเอาแรงบันดาลใจซึ่งนิมิตมาในฐานะของภาพเคลื่อนไหว ปะทะกันอย่างเศร้าสร้อยเพราะถึงที่สุดมันคือการถวิลหาที่ไม่อาจคว้าไขว่ครอบครอง และใน ‘ประถมบทแห่งการเริ่มต้นใหม่ของฉัน’ แรงบันดาลใจอันเศร้าสร้อยของวชรก็ระเบิดออกมา เขาทำหนังเรื่องนี้ด้วยการเอาภาพทั้งหมดที่เหลืออยู่ใคอมพิวเตอร์ของเขาที่จู่ๆ ก็พังไปและทำให้สิ่งที่เขาทำมาทั้งหมดสูญดับไปด้วย เขาเอาภาพทั้งจากภาพประกอบโปรแกรมต่างๆในเครื่อง หรือภาพที่หลงเหลือมาอัดเข้าไว้ด้วยกันเพื่อแสดงความอาลัย ความโกรธแค้น และความโศกเศร้า ต่อการตายลงของความฝันอดีต และเฉลิมฉลองการเริ่มต้นใหม่

หนังของวชร อาจจะไม่ได้เป็นหนังที่หมดจดงดงาม แต่สิ่งหนึ่งที่เขามีคือพลังอันเหลือล้น การไม่ประนีประนอมต่อแรงบันดาลใจของตนและการเปิดเปลือยความรักความใฝ่ฝัน จุดแข็งจุดอ่อน ความยากจน ความทะเยอทะยาน ของตนเองขึ้นจออย่างหมดเปลือก และไม่ว่าใครจะชอบหนังของเขาหรือไม่ก็คงไม่อาจปฏิเสธพลังอันพวยพุ่งในหนังของเขานี้

และนี่คือผู้กำกับทั้งสี่ เด็กหนุ่มทำหนังที่อาจยังไม่เป็นที่รู้จัก คนหนุ่มที่อาจจะไม่ใช่ผู้กำกับมือรางวัล คนทำหนังสั้นแสนสามัญที่ดิ้นรนแสดงภาพฉายของตนผ่านสื่อภาพยนตร์ หากพละกำลังของพวกเขา ความสร้างสรรค์ของพวกเขา และความกล้าหาญของพวกเขาก็เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่ามันจะนำพาพวกเขาไปได้ถึงจุดไหน ในโปรเจ็คต์หนังโดมิโน่ที่พวกเขาต้องสานต่อกันและกัน สร้างสรรค์ร่วมกันมีข้อจำกัดและช่องทางสร้างสรรค์ร่วมกันนี้ ผู้เขียนขอเอาใจช่วยอย่างสุดตัว!

อย่าลืมร่วมบริจาคเงินร่วมสร้างหนังโดมิโน่ราคา 5 แสนบาทได้ที่นี่ http://dominofilm.blogspot.com/

วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค "You Say You Want a Revolution: เปลี่ยนเถิดชาวไทย"

หลังจากฉายหนังของ เฉลิมเกียรติ แซ่หย่อง และ จุฬญาณนนท์ ศิริผล กันไปแล้วในเดือนก่อน ๆ คราวนี้งานเปลี่ยนเถิดชาวไทย ของ Chiangmai Now ก็ถึงคราวของนักทำหนังโดมิโน่อีกคน  คราวนี้คือคิวของ รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค และงานฉายหนังสั้นเกือบทุกเรื่องของเขา

วันเสาร์ 4 มิถุนายน 2554 15.00-18.00 น.

ที่หอศิลป์ กรุงเทพ ฯ ชั้น 9 (ตรงข้ามมาบุญครอง)

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรื่องของหมามองเครื่องบินและแผ่นดินแล้งรอฝน - ข่าวหนังโดมิโนใน Esquire พฤษภาคม 2011

ถึงขณะนี้ยังไม่มีคนแปลกหน้าบริจาคให้โครงการหนังโดมิโน่ ด้วยคงมองว่าหนังยังเป็นเรื่องการสนองตัณหาส่วนตัวของพวกอยากเด่นอยากดัง (ที่สามารถขายหนังเป็นสินค้าได้ทีหลังอีก) นี่หากเป็นกรณีของหมาโดนทำร้ายหรือเรื่องราษฎร์เรื่องหลวง และนักกีฬาเหรียญทองตกยาก มันคงไม่มาจบในรูปแบบนี้ 

เอาล่ะ โอกาสสุดท้าย ธนบัตรใบใดก็ได้ของคุณตั้งแต่ 20 บาท หรือ 100 บาท เรายินดีรับด้วยความซาบซึ้งแล้วกลืนอุดมคติหนัง 5 แสนบาท ต่อไปนี้เราจะหลุดพ้นจากข้อผูกมัดของยอดเงินและทำหนังโดยไม่เกี่ยงเงินทุน

ไม่ว่าคุณจะเป็นสื่อมวลชนหรือบุคคลธรรมดา ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องสนับสนุนเงินบริจาค ขอเพียงช่วยกันป่าวประกาศเป็นปากเสียงให้เรา ยิ่งหากคุณเคยดูหนังที่ ฟิล์มไวรัส จัด หรือเคยอ่านหนังสือ ฟิล์มไวรัส / บุ๊คไวรัส ที่เราทำ แล้วคุณยังนิ่งเฉยดูดาย ไม่เคยคิดแม้แต่จะส่งเสียงให้กำลังใจออกมาทั้งที่นี่หรือที่ไหน (เหมือนเช่นก่อน ๆ) ใครเล่าจะตอบได้เต็มปากว่าทำไมสังคมไทยไม่มีหนังสือแบบนี้ หนังแบบนั้น  

ประเด็นนี้ไม่รวมแค่เฉพาะเรา แต่ยังรวมถึงกิจกรรมทางศิลปะวัฒนธรรมทุกสาขา โดยเฉพาะกลุ่มละครเวทีอิสระที่อยู่ได้ทุกวันนี้อย่างยากเย็น เป็นไปได้อย่างไรที่ละครเวทีรอบหนึ่งมีคนดูแค่คนเดียวหรือสองคน สังคมที่แฟนเพลงไม่สนับสนุนกันเอง มันจะพบตอนจบแบบอื่นได้อย่างไร

ข่าวหนังโดมิโน่ได้ลงในนนิตยสาร Esquire พฤษภาคม 2011 
ปก Matthew McConnaughey
(ขอขอบคุณ วรัญญู อินทรกำแหง และกองบรรณาธิการ Esquire Thailand ไว้ ณ ที่นี้)

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แนะนำหนังของ 4 นักทำหนังโดมิโน่ ใน Vote


อ่าน บทความแนะนำหนังของ 4 นักทำหนังโดมิโน่
“ของเหลวแห่งแสงอันเป็นภัยใกล้ตัวของยายหมอน”
โดย Filmsick

ในนิตยสาร Vote ปักษ์หลัง พฤษภาคม - ปก ยิ่งลักษณ์ 
(และอ่านตอนต่อได้ในอีก 2 ฉบับข้างหน้า)

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทำไมโครงการหนังโดมิโน่ต้องเดินหน้าต่อไป

Werner Herzog พูดถึงเหตุผลว่าทำไมเขาถึงต้องดิ้นรน 3- 4 ปี เข็นเรือข้ามภูเขาถ่ายหนังให้จบใน Fitzcarraldo ดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร้ค่า

“ผมไม่ยอมหรอก ถ้าผมอยู่โดยไม่มีความฝัน ผมก็คงไม่ต่างจากฝูงวัวตามท้องทุ่ง ผมต้องอยู่หรือตายไปพร้อมโครงการนี้” 


จากสัมภาษณ์ในสารคดีเรื่อง Burden of Dreams (1982) ซึ่งท่านสามารถหาชมคลิปนี้ได้ในหนังปี 1993 ของ Abel Ferrara เรื่อง Dangerous Games (หรือ Snake Eyes) นำแสดงโดย Harvey Keitel และ Madonna

กระทั่ง 4 หนุ่มบอยแบนด์หนังโดมิโน่ ก็คงโวยว่าโอเวอร์แอ็คติ้งไปไหม สำหรับประโยคก่อนหน้านี้ และตามหลังจากนี้ (แล้วก็ไม่ได้หวังจะเปรียบตัวเองกับหนังเอพิคขนาด Fitzcarraldo ให้คนหมั่นไส้มากขึ้น) แต่สำหรับโครงการหนังโดมิโน่ก็เช่นกัน ไม่ว่าทุนสร้างเราจะมี 1 แสน หรือ 5 แสนบาท ทางผู้จัดก็จะต้องทำหนังเรื่องแรกให้จบไม่ว่าจะในรูปแบบ....หรือ ผลลัพธ์.....ชนิดไหนก็ตาม 

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตัวอย่าง “ความเศร้าของภูตผี” ฉบับเต็ม 7 นาที Trailer


นี่ไม่ใช่ตัวอย่างจากหนังของจริง ขณะนี้ยังเป็นแค่วีดีโอนำเสนอต้นร่างความคิดของคนทำหนัง (ก่อนจะเริ่มไปถ่ายจริงอีกที)

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วันแถลงข่าวหนังโดมิโน่

ชมวีดีโอบรรยากาศงานแถลงข่าวหนังโดมิโน่ ได้ที่นี่

ขอบคุณ ฟิ้วส์ สำหรับการรายงานข่าวค่ะ

http://www.fuse.in.th/blogs/trend/3956

รวมเฉพาะยอดเงินโดมิโน่


เนื่องจากผู้สนับสนุนบางท่านไม่ประสงค์ที่จะระบุจำนวนเงินบริจาค ดังนั้นต่อไปนี้เราจะขอลงเฉพาะยอดรวมของจำนวนเงินทั้งหมดแทน ยกเว้นหน่วยงานหรือบริษัทที่จะคงตัวเลขไว้ แต่หากบุคคลใดอยากให้ระบุตัวเลขบริจาคของตัวเอง โปรดแจ้งให้เราทราบด้วย

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

“ความเศร้าของภูตผี” Teaser ชุด 1



เพิ่มอีกอันหนึ่ง หนังตัวอย่างแนะนำผลงานเรื่องแรกของ “โครงการหนังโดมิโน่ 4 สหาย”

“ความเศร้าของภูตผี” บทหนังของ แดนอรัญ แสงทอง กำลังเป็นแรงบันดาลใจให้ 4 คนทำหนังพัฒนาบทหนังยาวอยู่ในขณะนี้

นี่คือตัวอย่างฉบับย่อแนะนำเมืองหิมะ ส่วนหนังตัวอย่างฉบับยาวจะตามมาในเร็ววัน

Domino Film Experiment Trailer - วีดีโอแนะนำโครงการหนังโดมิโน่

มาแล้ว หนังตัวอย่างแนะนำโครงการหนังโดมิโน่ 4 สหาย ของ ฟิล์มไวรัส

Domino Film Experiment Trailer

แนะนำ 5 นักเขียน 2 นักแสดง 4 ผู้กำกับ และทีมผู้สร้าง

ว่าที่เพลงในหนังโดมิโน่ ตอน ของ แดนอรัญ แสงทอง

คุณ แดนอรัญ แสงทอง อยากให้มี 2 เพลงนี้ในหนังโดมิโน่

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

สรุปโครงการ "ปฏิบัติการหนังโดมิโน่ 4 สหาย" for beginners

ปฏิบัติการหนังโดมิโน่ 4 สหาย
Domino Film Experiment 
หนังที่ทุกคนมีส่วนร่วมสนับสนุนได้

โปรดิวเซอร์ : ภาณุ อารี (The Convert และ Baby Arabia)
ที่ปรึกษา: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, ก้อง ฤทธิ์ดี, สมเกียรติ์ วิทุรานิช (October Sonata)
คณะนักเขียนโดมิโน่: สุชาติ สวัสดิ์ศรี, แดนอรัญ แสงทอง, อุทิศ เหมะมูล, ปราบดา หยุ่น, อนุสรณ์ ติปยานนท์
นักแสดงรับเชิญ : ทราย - อินทิรา เจริญปุระ และ เจนจิรา พงพัศ (ลุงบุญมีระลึกชาติ) 
เจ้าของโครงการ : สนธยา ทรัพย์เย็น (Filmvirus)
ติดตามข้อมูลโดยละเอียดที่เว็บไซต์ http://dominofilm.blogspot.com/
หรือ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) : ติดต่อ โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด โทร 02-925-0141, 086-490-6295
E-Mail: morimartr@gmail.com, filmvirus@gmail.com

ปูมหลัง
ภาพยนตร์ไทยนอกกระแสเริ่มสร้างความคุ้นเคยให้คนดูหนังทั่วไปได้รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่หนังเหล่านี้ก็ยังต้องพึ่งพาทุนสร้างจากต่างประเทศเป็นหลัก หรือความจริงคือสยามประเทศที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังไม่พร้อมสำหรับพื้นที่ทางเลือกอย่างแท้จริง และหากผู้มีอำนาจชี้ขาดในสถาบันและวงการภาพยนตร์ยังขาดความเท่าทันทางศิลปะโลก เราจะรอช้าอยู่ไย ทำไมไม่สร้างหนังในแบบที่เราเชื่อและอยากดู

อะไรคือ ปฏิบัติการหนังโดมิโน่
ปฏิบัติการหนังโดมิโน่ ต่างจากหนังทั่วไปในแง่ที่ว่า นี่คือการท้าทายหนังในระบบอุตสาหกรรมด้วยการรบกวนกระเป๋าสตางค์คนดูโดยตรง งานนี้บุคคลทั่วไปนอกวงการภาพยนตร์สามารถมีส่วนร่วมสมทบสร้างหนัง จากเป้าทุนสร้างเพียง 5 แสนบาทสำหรับการทำหนังใหญ่ 1 เรื่อง โดยในหนังแต่ละเรื่องได้เรียนเชิญนักเขียนครั้งละ 1 ท่าน (จากทั้งหมด 5 ท่าน) เข้ามากำหนดโจทย์คร่าว ๆ ให้คนทำหนังทั้ง 4 ผลัดกัน แต่ง-เติม เรื่องราวในลักษณะตัวต่อโดมิโน่ พร้อมกับถ่ายทำจนได้ผลงานหนังยาว 1 เรื่อง เมื่อผลงานหนังเรื่องแรกเสร็จ จึงจะทยอยสร้างหนังโดมิโน่จากโจทย์ของนักเขียนคนต่อไปจนกระทั่งครบ 5 เรื่อง

ลำดับการสร้างหนังโดมิโน่ ตามโครงการ หนังโดมิโน่ประกอบด้วยหนังจำนวน 5 เรื่อง คือ

1. หนังจากโจทย์ของ แดนอรัญ แสงทอง (ศิลปินศิลปาธร ปี 53 / เหรียญอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศสปี 51)
2. หนังจากโจทย์ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ โลกหนังสือ, ช่อการะเกด /นักทำหนังศิลปะ)
3. หนังจากโจทย์ของ อุทิศ เหมะมูล (นักเขียนรางวัลซีไรต์และรางวัลเซเว่นอวอร์ดส์ ปี 2552)
4. หนังจากโจทย์ของ ปราบดา หยุ่น (นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2545 / เจ้าของสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น)
5. หนังจากโจทย์ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ (เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์จาก “เคหวัตถุ” และ "นิมิตต์วิกาล" 2554)

หัวใจโดมิโน่
 แนวคิดแบบโดมิโน่นั้น คือการประกาศว่า หนังเกิดขึ้นได้จากแรงบันดาลใจรอบตัวทุกชนิด และหากหนังเคารพตัวอักษรหรืองานวรรณกรรมเป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจ ในความนอบน้อมถ่อมตนนั้นมันก็ยังสามารถก้าวพ้นจากท่านอาจารย์อย่างอิสระ และเป็นได้มากกว่า “ทาสวรรณกรรม” หรือภาพประกอบหนังสือ เพราะแม้แต่ตัวของนักเขียนต้นเรื่องเองก็ไม่อาจทราบได้ว่าหนังทั้งเรื่องจะคลี่คลายไปในลักษณะไหน

กติกาสนาม
ปฏิบัติการหนังโดมิโน่ 4 สหาย ท้าใจให้คนทำหนังทั้ง 4 คน ซึ่งมีความสนใจและลักษณะผลงานแตกต่างกันมาก ต้องพยายามหาวิธีทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ คล้ายกับการวิ่งผลัด 4 คูณ 100 หรือการร่วมบรรเลงดนตรีแจ๊ส ที่ทุกคนผลัดกันเล่นโซโล่หรือเล่นสมทบ ทั้งนี้พวกเขาต้องใช้จินตนาการและความอดทนที่จะประสานทุกอย่างให้สอดคล้องกันได้มากที่สุด ขณะเดียวกันต้องบริหารทุนและตารางการถ่ายทำอย่างรอบคอบ เพราะลมหายใจของหนังโดมิโน่ จะตามรดต้นคอของทีมงานไปตลอดจนกว่าผลงานจะแล้วเสร็จ ในขณะที่พวกเขากำลังเร่งร้อนทำงาน ผู้ไว้วางใจร่วมลงทุนทุกท่านต่างก็กำลังรอคอยผลลัพธ์อย่างใจจดใจจ่อด้วย 
 
งบประมาณและยุทโธปกรณ์

ทางคณะผู้จัดหนังโดมิโน่กำลังรอความช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุน แรงงานและอุปกรณ์ การอำนวยความสะดวกทางสถานที่ การเดินทาง และอาหาร เพราะเมื่องบประมาณน้อยก็ต้องเน้นทุนสมองเป็นหลัก กล้องที่ใช้ถ่ายทำย่อมเทียบคุณภาพมืออาชีพไม่ได้ อาศัยความช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อนฝูง ประหยัดทั้งค่ารถ ค่าอาหาร ค่าแรง ตามความสมควร หากบุคคลหรือองค์กรใดต้องการอาสาเป็นผู้สนับสนุนโครงการทั้งด้านเงินและการลงแรงงาน สามารถติดต่อเสนอทุนได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ความคืบหน้าจะแจ้งผลอย่างต่อเนื่องในเว็บโดมิโน่ เว้นแต่หากรวบรวมทุนสร้างไม่ถึง 5 แสนบาท ทางผู้จัดจะดำเนินการคืนเงิน

แผนการจู่โจม
 นอกเหนือจากการขอทุนสนับสนุนจากชาวบ้านร้านช่องแล้ว ผู้จัดหนังโดมิโน่จะพยายามติดต่อกองทุนต่างประเทศและองค์กรในประเทศไปพร้อมกันด้วย อย่าลืมอวยพรให้พวกเรา

จารึกรอยผู้กล้า

 ผู้ใดที่มีจิตศรัทธาและเชื่อมั่นว่าทีมงานโดมิโน่ไม่ใช่คนลวงโลก สามารถติดต่อขอสนับสนุนโอนเงินของพวกท่านมาได้เลย ท่านสามารถดูรายละเอียดประเภทของการสนับสนุนทุนได้ในบล็อก และชื่อของทุกท่านที่สนับสนุนจะปรากฎบนบล็อกเช่นกัน 

ระยะเป้าและเส้นทางหลังสมรภูมิ
 เราคาดว่าหนังที่สำเร็จจะมีโอกาสฉายโชว์ในต่างประเทศ ตามเทศกาลหนังต่างๆ หรือโรงภาพยนตร์อย่างน้อยหนึ่งแห่งในประเทศ รวมทั้งที่หอศิลป์กรุงเทพฯ  

ลิขสิทธิ์ 
ลิขสิทธิ์หนังไม่ตกเป็นของผู้ร่วมสนับสนุน แต่จะตอบแทนเป็นเครดิตขอบคุณในหนัง หรือในลักษณะอื่นๆ ดังที่แจ้งไว้ในเว็บโดมิโน่ 

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

หนึ่งน้ำใจเจได

ความงามของการทำงานคือ การได้รับความช่วยเหลือและมิตรไมตรีจากคนแปลกหน้าหรือคนหน้าใหม่ ๆ ในชีวิต เราขอขอบคุณ ทราย อินทิรา เจริญปุระ และ ป้า เจนจิรา พงพัศ (นักแสดงคู่ขวัญของหนัง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ที่ให้ความไว้วางใจกับทีมงานของหนังโดมิโน่ ในภาวะที่ภาครัฐและผุ้มีอำนาจหมางเมินโครงการนี้มาตลอด เราขอขอบคุณท่านทั้งสองด้วยความซาบซึ้งใจ และแน่นอนกับทุกท่านที่ส่งกำลังใจมาให้พวกเราด้วยเช่นกัน ไม่สำคัญว่าคุณจะให้ทุนรอนเราหรือไม่ แต่ทุกกำลังใจ ทุกแรงงานที่อาสาเข้ามาช่วย เราขอน้อมรับด้วยความตื้นตันใจยิ่ง

และล่าสุดกับอีกหนึ่งพลังจากคุณ "ฉลองรัตน์" Chalongrat Laipayak ผู้อาสามาช่วยเหลือทีมงานเราออกแบบโปสเตอร์งานแถลงข่าว “ปฏิบัติการหนังโดมิโน่” ในวันจันทร์ที่ 25 ที่กำลังจะถึงนี้

โดมิโน่หนัง (สือ) Domino Book

มี “โดมิโน่หนัง” แล้วทำไมจะมี “โดมิโน่วรรณกรรม” ไม่ได้

“ความเศร้าของภูติผี” บทหนังฉบับกระทัดรัดของ แดนอรัญ แสงทอง เรื่องเดิมที่ทำเป็น หนังโดมิโน่ นี่แหละกำลังจะถูกนำมาขยายเติมด้วยฝีมือนักเขียนรุ่นใหม่อีก 3 คน นั่นคือคู่ซี้หุ้นส่วนเจ้าของ “ร้านหนัง (สือ) 2521” ที่ภูเก็ต คือ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (filmsick) นักเขียนรางวัลช่อการะเกด และ นฆ ปักษนาวิน (โลกเก้าใบในร้านหนังสือ) ร่วมด้วยกวีหนุ่ม อุเทน มหามิตร (หนังสือเข้ารอบซีไรต์ : ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์)

ข้อได้เปรียบชัดเจนของงานเขียนเหนือการทำหนังก็อย่างที่คงรู้กัน คือ นักเขียนสามารถเริ่มทำงานจนเสร็จได้เลย ไม่ต้องรอทุนสร้าง จะเผยแพร่บนเว็บไซต์ก็ง่ายดาย ส่วนการจัดพิมพ์เป็นเล่มนั้นอันนี้คงต้องมองหาสำนักพิมพ์กันอีกที แต่พวกนักเขียนน่ะ แค่ขอให้ได้เขียนก็สุขใจ

(ภาพโปสเตอร์โดย filmsick)

ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ แจมทีมหนังโดมิโน่

เคี้ยง - ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ ร่วมอาสาทำเสียงให้หนังโดมิโน่

อย่าลืมติดตามชม งานฉายหนังของ ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ 5 เรื่อง ที่ หอศิลป์กรุงเทพ ฯ ชั้น 9
14 พฤษภาคม 2554 เวลา 15.00-18.00 น. (ชมฟรี)

5 หนังรสเคี้ยง ได้แก่ 
- คืนวันหนึ่งที่ถนนตะแลงแกง
- สัตว์วิบากหนักโลก
- อัตถิภาวะนิยมสุขสันต์ 
- หนีนรกโพธิ์พระยา 
- take off

(ภาพโปสเตอร์โดย filmsick)

ผีครวญ


“ความเศร้าของภูตผี” บทหนังดั้งเดิมของ แดนอรัญ แสงทอง คือหนังเรื่องแรกที่กำลังขยายพันธุ์ในโครงการหนังโดมิโน่ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างเรียบเรียงทรีทเมนท์ส่งเกาหลี ถ้าโชคดีอาจจะได้เงินก้อนหนึ่ง แต่แม้ได้ทุนมาก็ใช่ว่าจะครบ 5 แสนบาท และยังต้องการความสนับสนุนจากคนไทย (ที่ไม่ได้รักเฉพาะนเรศวร) อยู่ดี

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

เทศกาลหนัง 15/15 ฟิล์มเฟสติวัล

ภาพวีดีโองาน 15/15 ฟิล์มเฟสติวัลนี้ไม่ได้เกี่ยวกับ โครงการ "ปฏิบัติการหนังโดมิโน่" แต่เป็นโครงการที่ ฟิล์มไวรัส เคยจัด และอยากให้คนเข้าใจว่าสปิริตของหนังโดมิโน่ ไม่ใช่การทำหนังยาวที่มุ่งให้ทุกองค์ประกอบต่างส่วนรวมกันอย่างสมบูรณ์แบบ หากแต่กระตุ้นให้เกิดไอเดียอิสระฉีดกระโจน เช่นเดียวกับที่หนังในเทศกาล 15/15 (บางเรื่อง) เคยทำได้



15/15 Film Festival Australia -Bangkok เทศกาลหนัง 15/15 ฟิล์มเฟสติวัล เคยจัดสองครั้งในเมืองไทย โดย ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) เคยเป็นเจ้าภาพฝ่ายไทย ร่วมกับ สถานทูตออสเตรเลีย จัดประกวดหนังสั้นความยาวไม่เกิน 15 นาที ที่ถ่ายทำขึ้นภายใน 15 ชั่วโมง โดยเริ่มจากการเปิดซองอ่านโจทย์ที่ต้องใช้ในภาพยนตร์ในตอนเช้า และเริ่มถ่ายทำ-ตัดต่อหนังให้เสร็จพร้อมส่งภายในคืนนั้น ๆ กิจกรรมนี้จัดขึ้นพร้อมกันหลายประเทศทั่วโลก ภายในเวลาที่ไล่เลี่ยกันของวันเดียวกัน

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

Domino Film Experiment ที่ Bangkok Post, 13 April 2011


ขอบคุณ ก้อง ฤทธิ์ดี ในที่สุดข่าว ปฏิบัติการหนังโดมิโน่ 4 สหาย ที่ Bangkok Post, 13 April 2011

http://www.bangkokpost.com/arts-and-culture/film/231749/small-money-big-names

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2554

Welcome 2 Grand Dames of Thai cinema on Domino Film' s board

ทราย - อินทิรา เจริญปุระ และป้าเจน สุดเสน่หาของชาวเรา รับชวนมากินอุดมการณ์ เล่นหนังโดมิโน่ การได้สองนักแสดงระดับนี้ถือเป็น แสงแห่งศตวรรษ และนับเป็นพระเดชพระคุณยิ่งสำหรับชาวฟิล์มไวรัสพะยะค่ะ

* * * ติดตามข่าวหนังโดมิโน่ 4 สหายที่ Domino Facebook นะคะ (คลิกบนภาพด้านขวา)

Follow Domino Film Updates on Facebook (please look on your right and click)

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

ปรบมือต้อนรับ อีก 1 โดมิโน่คนสำคัญ - อนุสรณ์ ติปยานนท์


ขอต้อนรับด้วยความยินดียิ่ง อีกหนึ่งลายปากกาโดดเด่นของยุคนี้ คุณ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนเจ้าของผลงานเข้ารอบซีไรต์ และ ผลงานดังอย่าง เคหวัตถุ, ลอนดอนกับความลับในรอยจูบ, 8 ½ ริกเตอร์ และ นิมิตต์วิกาล ผู้ให้เกียรติตอบตกลงมาร่วมเป็น 1 ในนักเขียนรับเชิญหนัง Domino Film ถัดจาก คุณ ปราบดา หยุ่น (และก่อนหน้านั้น คุณ แดนอรัญ แสงทอง, คุณ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ คุณ อุทิศ เหมะมูล)

วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

ปราบดา หยุ่น ร่วมแท็คทีม โดมิโน่


ด้วยความซาบซึ้งใจจากชาวฟิล์มไวรัส ขอขอบคุณ ปราบดา หยุ่น เจ้าของสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น และ นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2545 ที่ให้เกียรติตอบตกลงมาร่วมเป็น 1 ในนักเขียนรับเชิญหนัง Domino Film 

ผลงานเขียนเล่มล่าสุดของ ปราบดา หยุ่น รวมเรื่องสั้นชุด “ดาวดึกดำบรรพ์” (สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น) และงานแปลนิยายคลาสสิกของ แอนโธนี่ เบอร์เจสส์ “คนไขลาน” (A Clockwork Orange) จากสำนักพิมพ์ไล้ท์เฮ้าส์ เล่มเดียวกับที่เคยทำเป็นหนังอื้อฉาวของ แสตนลี่ย์ คูบริค นั่นแหละจ๊ะ

งานเปิดตัวแถลงข่าว ปฏิบัติการหนังโดมิโน่ - Domino Film Experiment Opening Day

งานเปิดตัวแถลงข่าว ปฏิบัติการหนังโดมิโน่ 4 สหาย 

Domino Film Experiment Opening Day, 25 April 

at William Warren Library, Jim Thompson House Gallery 
soi Kasemsun 2, Pathumwan (BTS National Stadium Station)

เปิดตัวแถลงข่าวสื่อมวลชน วันจันทร์ ที่ 25 เมษายน 2554 
เวลาบ่าย 3 โมงตรง ห้องสมุด วิลเลียม วอร์เรน, หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน 
ซอยเกษมสันต์ 2 (รถไฟฟ้าป้ายสนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน)

* * * ติดตามข่าวหนังโดมิโน่ 4 สหายที่ Domino Facebook นะคะ (คลิกบนภาพด้านขวา)

Follow Domino Film Updates on Facebook (please look on your right and click)

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

แผนงาน “ปฏิบัติการหนังโดมิโน่” ของ Filmvirus

แผนงาน “ปฏิบัติการหนังโดมิโน่” ของ Filmvirus
ในโครงการขั้นแรก หนังโดมิโน่จะประกอบไปด้วยหนังจำนวน 3 เรื่อง คือ

1. หนังจากโจทย์ของ แดนอรัญ แสงทอง
2. หนังจากโจทย์ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
3. หนังจากโจทย์ของ อุทิศ เหมะมูล

แต่ละเรื่องกำหนดงบประมาณสร้างไว้ที่ 500,000 บาท (ห้าแสนบาท)
แต่ละเรื่องประกอบด้วยผลงาน 4 ส่วนจากคนทำหนัง 4 คน ซึ่งมาร่วมใจ ต่อ-แต่ง – เพิ่มเติมเรื่องจากโจทย์และตัวละครดั้งเดิมของนักเขียนแต่ละท่าน

หนังเรื่องแรก (หนังโดมิโน่ เรื่องที่ 1) จะเริ่มสร้างจากโจทย์ต้นเรื่องของ แดนอรัญ แสงทอง ซึ่งในกรณีนี้เป็นบทหนังส่วนแรกความยาว 14 หน้า ที่ส่งมอบให้คนทำหนัง 4 คนไปสานต่อเรื่องจนจบเป็นเรื่องยาว

หากผลงานเรื่องแรกลุล่วง และมีทุนสมทบกำลังการผลิต จากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินงานสร้างผลงานอันดับ 2 และ 3 นั่นคือเรื่องที่สร้างจากโจทย์ต้นเรื่องของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ อุทิศ เหมะมูล

ทั้งนี้ในผลงานสร้างลำดับถัดไป ทีมงานผู้กำกับทั้ง 4 คนอาจปรับแปลงจาก 4 คน เป็น 3 คน หรือสลับหน้าตาเป็นคนใหม่ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ความเหมาะสม และความร่วมใจสามัคคี

ระยะเวลาการทำงาน
ติดต่อขอรับทุนจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการขอรับทุนและเปิดรับบริจาคภายในประเทศ

เปิดรับทุนสนับสนุนภายในประเทศ นับจากวันนี้ – 15 มิถุนายน 2554
กำหนดการเปิดกล้อง 1 สิงหาคม 2554
ถ่ายทำเสร็จภายใน 1 กันยายน 2554
ช่วงโพสต์-โปรดักชั่น – 30 พฤศจิกายน 2554
ฉายเผยแพร่ครั้งแรก ภายในเดือน ธันวาคม 2554 ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ปทุมวัน
(หมายเหตุ : กำหนดวันยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น)

แผนการใช้จ่ายงบประมาณ
เนื่องจากงบประมาณ 5 แสนบาท สำหรับการถ่ายทำหนังยาว 1 เรื่องนั้นย่อมไม่ใช่จำนวนที่มาก หากเทียบกับทุนสร้างหนังขนาดเล็กปกติ 15 ล้านบาท หรือหนังของค่ายใหญ่บางแห่ง 30 ล้านบาท-หลายร้อยล้านบาทขึ้นไป จำนวนเงินที่น้อยย่อมมีผลกดดันโดยตรงกับค่าใช้จ่ายในหนังทุกส่วน ตั้งแต่ อัตราค่าแรงทีมงาน นักแสดง ตารางการถ่ายทำแบบจำกัดวัน อุปกรณ์ การประสานงานกองถ่าย ฯลฯ

ดังนั้นเพื่อความซื่อสัตย์ในการจัดสรรค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องเป็นสัดส่วน เกิดความเชื่อมั่นระหว่างทีมงาน โปรดิวเซอร์ และผู้สนับสนุนทุกท่านที่เรายังไม่มีโอกาสได้รู้จักหน้าค่าตา ซึ่งสู้อุตส่าห์ให้ใจกับพวกเรามา ผู้กำกับทั้ง 4 คนจะพกสมุดบันทึกค่าใช้จ่ายของตัวเองคนละ 1 เล่ม โดยที่ทุกคนมีสิทธิ์บริหารเงิน และตรวจสอบบัญชีกับ เหรัญญิกประจำทีมงานฟิล์มไวรัส (โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด) ตลอดกระบวนการผลิต ทั้งนี้ความสามัคคีระหว่างทุกฝ่ายเท่านั้นที่จะทำให้ปัญหาซึ่งเงินอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้หมด สามารถลุล่วงได้โดยตลอดลอดฝั่ง

ลักษณะธรรมชาติของภาพยนตร์ชนิดนี้
ดังที่บางท่านคงทราบดี หรือคงคาดเดาได้ไม่ยากว่า มันแทบเป็นสิ่งเหนือปาฏิหาริย์ที่จะคาดหวังให้คนทำหนังที่มีความแตกต่างกันมาก 4 คน เรียบเรียงเรื่องราวให้ออกมาสมบูรณ์กลมนวลเหมือนหนังที่ออกแบบและกำกับอย่างมีทิศทางชัดเจนเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังต้องถูกคาดหวังให้พยายามถ่ายทอดโจทย์ของนักเขียนต้นเรื่องอย่างซื่อสัตย์ ไม่บิดพริ้วในทุกกระเบียดนิ้ว

ฉะนั้นสิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่าและคนดูน่าจะคาดหวัง ก็คือการเห็นคนทำหนัง 4 คนพาหนังไปถึงจุดที่ไร้กระบวนท่าชนิด “อะไรก็เกิดขึ้นได้” กระตุ้นให้เกิดความรื่นเริงในกระบวนการสร้างดุจเดียวกับการค้นพบเกมใหม่ ใส่ใจกับการค้นหา มากกว่าการค้นพบ ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความสำคัญของการปรึกษาช่วยเหลืองานฉันท์มิตร พยายามรักษาและเคารพต่อองค์รวมทางศิลปะ ซึ่งต้องคงความสัมพันธ์สอดรับกับผลงานของเพื่อนร่วมเกมที่เดินทางร่วมกันมา โดยไม่ต่างกันนักจากหัวใจของดนตรีแจ๊ซ

ข้อเสนอการบริหารเงิน
หากรวบรวมจำนวนเงินได้ไม่ครบ 5 แสนบาท เราจะพยายามติดต่อหาทุนเพิ่มจากแหล่งต่าง ๆ ให้เต็มความสามารถ และหาวิธีทำหนังแบบประหยัดทุนให้ได้มากที่สุด และจะใช้ทิฐิมานะ (ดันทุรัง) เดินหน้าทำหนังต่อไป ซึ่งคงไม่ใช่ลักษณะเต็มสเกลในรูปแบบที่ตั้งไว้แต่แรก สรุป คือเราจะไม่ยกเลิกโครงการแต่เดินหน้าทำหนังเรื่องยาวต่อไป โดยปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นตามเงื่อนไขของงบประมาณและโอกาส ณ ขณะนั้น

ในกรณีของยอดเงินร่วมสนับสนุนเกินหลัก 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 5 พันบาท ตัวเลขจะถูกยกยอดให้เป็นค่าแรงของคนทำหนังทั้ง 4 คน และลูกทีม

ในกรณีของยอดเงินเกินหลัก 5 แสน 5 พันบาทขึ้นไป ตัวเลขจะถูกปันให้เป็นเงินทุนของหนังเรื่องถัดไป นั่นคือผลงานอันดับ 2 และ 3 ในตอนที่สร้างจากโจทย์ต้นเรื่องของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ อุทิศ เหมะมูล

วิธีสนับสนุนโครงการ
คุณ หรือหน่วยงานของท่าน สามารถส่งตัวเลขสมทบทุนโดยการโอนเงินเข้าบัญชีในนาม :
สนธยา ทรัพย์เย็น ธนาคาร ไทยพาณิชย์ สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 183-2-08740-2

หลังจากโอนเงินแล้ว กรุณาส่งสำเนาใบนำฝากแจ้งให้เราทราบทางอีเมล filmvirus@gmail.com (หรือ filmvirus@yahoo.com) หรือ ทางแฟกซ์ที่เบอร์ 02-925-0141, หรือโทรศัพท์แจ้งทางมือถือ 086-490-6295 หลังจากนั้นเราจะบันทึกชื่อของท่านลงบล็อกภายใน 3 วัน นับจากที่ได้รับแจ้ง และอย่าลืมกรุณาระบุ ชื่อ-นามสกุลจริง หรือชื่อของหน่วยงานผู้สนับสนุน พร้อมที่อยู่และเลขที่บัญชี (ในกรณีที่ต้องติดต่อส่งเงินคืนหากทุนสร้างไม่พร้อม) ทางผู้จัดงานขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับทุกท่านที่ร่วมสนับสนุนครับ

การสนับสนุนด้านอื่น
ขณะนี้เรายังต้องการความสนับสนุนในอีกหลายด้าน ทั้งในส่วนของแรงงาน อุปกรณ์ (ขณะนี้ยังไม่มีอุปกรณ์กล้อง) ผู้ร่วมแสดง ทีมงาน และสถานที่ หากใครสนใจช่วยเสริมงานด้านนี้โดยไม่หวังผลตอบแทนนอกจากการรับประทานข้าวหม้อเดียวกัน สามารถติดต่อเราได้เช่นกัน

(โปรดติดตามอ่านรายนามผู้ร่วมลงทุนที่จะนำมาทยอยลงที่ด้านล่างบล็อกนี้)

น้ำใจให้ “ปฏิบัติการหนังโดมิโน่” - To Support Domino Film Experiment

“ปฏิบัติการหนังโดมิโน่” เกิดขึ้นเพื่อรณรงค์การสนับสนุนหนังนอกระบบธุรกิจ ซึ่งไม่เกี่ยวกับระบบกู้ยืมหรือการลงทุนเพื่อหวังกำไร น้ำใจในการสนับสนุนหนังที่ทุกท่านส่งมา เราขอน้อมรับความกรุณาปราณีไว้ด้วยความตื้นตันใจ และจะนำไปปลุกขวัญกำลังใจทีมงาน ให้สร้างผลงานออกมาสุดฝีมือ และนำออกเผยแพร่ในวงกว้างให้ได้มากที่สุด ตามที่ท่านได้ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ อย่างไรก็ตามเราขอแจ้งล่วงหน้าให้ทราบก่อนว่า จะไม่มีการจ่ายคืนทุนสร้างในลักษณะใดๆ หรือรวมถึงการมอบลิขสิทธิ์หนัง ให้กับผู้สนับสนุนแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่จะตอบแทนเป็นสิ่งอื่นตามคำอธิบายดังต่อไปนี้

(หมายเหตุ: หากมีเหตุอันใดที่ทำให้ไม่สามารถรวบรวมทุนได้ใกล้เคียงสัดส่วน 5 แสนบาท ตามวงเงินทุนสร้างของหนังแต่ละเรื่อง เราจะดำเนินการคืนเงินและล้มเลิกโครงการ)

Domino Film Experimental Project is an alternative form of commerce and patronage, not a place for investment or lending. We wish to inform you that any kind of funding here is not involved giving up ownership or financial returns.

เรารู้สึกซาบซึ้งในทุกน้ำใจของทุกท่านที่ส่งกำลังใจมาร่วมบริจาค ทุกรายชื่อที่มีส่วนร่วมจะปรากฏบนเครดิตบล็อก พร้อมยอดเงินที่ร่วมสนับสนุน
The heartfelt appreciation of the entire FILMVIRUS team, and our sincerest thanks for your participation in this project!

ประเภทที่ 1 ร่วมเชียร์ (ตั้งแต่ 300 บาท ขึ้นไป)
เรารู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่คุณมอบเกียรติเป็นแสงสว่างในการวางโดมิโน่ชิ้นแรก และจะเรียนเชิญชื่อของคุณมาประดับบนบล็อกของเรา พร้อมยอดเงินที่ร่วมสนับสนุน

Level 1 - Cheerleaders (Pledge 300 baht or more.)
A heartfelt “thank you” from the Filmvirus team. We will list your name as a Domino backer on our blog since you are the first light that shines in and lets us take our very first steps.

ประเภทที่ 2 ร่วมสนับสนุน (ตั้งแต่ 5, 000 บาท ขึ้นไป) 
เรารู้สึกประทับใจในความเอื้ออารีของคุณอย่างยิ่ง เราจะใส่ชื่อคุณในเครดิตบล็อก พร้อมยอดเงิน และคำขอบคุณในเครดิตท้ายเรื่อง

Level 2 – SUPPORTER (Pledge 5,000 baht or more.)
We are impressed with your great trust in us and we will add your name to the "Thank You" end credit of the film as well as on our blog as a supporter.

ประเภทที่ 3 สปอนเซอร์ (ตั้งแต่ 10, 000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท) ขึ้นไป) 
เรารู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของคุณอย่างสุดแสน เราจะใส่ชื่อคุณหรือหน่วยงานของคุณในเครดิตบล็อก พร้อมยอดเงินที่ร่วมสนับสนุน และใส่ชื่อคุณหรือหน่วยงานของคุณในเครดิตท้ายเรื่องในฐานะ “ผู้สนับสนุนโครงการ” รวมทั้งระบุชื่อบนเอกสารแจกประชาสัมพันธ์หนังให้สื่อมวลชน 

Level 3 – SPONSOR (Pledge 10, 000 baht or more.)
We are so delighted by your warm support and we will give you a listing on the film credits and website, as "Made with support of" end credit, which will appear at the end of the film, and will also appear on our blog, and any other related promotional material.

ประเภทที่ 4 ผู้ค้ำจุน (ตั้งแต่ 50, 000 บาท (ห้าหมื่นบาท) ขึ้นไป)
เราจะเอ่ยความรู้สึกเต็มตื้นของเราเป็นคำอย่างไรดี เรายืนยันว่าจะใส่ชื่อคุณในเครดิตบล็อกพร้อมยอดเงินที่ร่วมสนับสนุน และใส่ชื่อคุณหรือหน่วยงานของคุณในเครดิตหนังท้ายเรื่องในฐานะ “ผู้ค้ำจุน” และระบุชื่อบนเอกสารแจกประชาสัมพันธ์สำหรับสื่อมวลชน รวมทั้งเชิญคุณมาดูหนังในรอบปฐมทัศน์และรอบต่อๆ ไป  

Level 4 PATRON (Pledge 50, 000 baht up)
We can never be able to explain our deepest sincere appreciation for your warmest and heartfelt support in our project! We will give you a listing as a patron, which will appear at the end of the film, and will also appear on our blog, and any other related promotional material. We will also offer you an invitation to the film's opening and future screenings.

ประเภทที่ 5 ผู้อำนวยการสร้าง (ตั้งแต่ 100, 000 บาท (หนึ่งแสนบาท) ขึ้นไป) 
ทุกข์กังวลในเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของเราคงจะปลาสนาการหายไปสิ้น และนั่นจะทำให้เรามีเวลาใส่ใจกับคุณภาพของหนังได้มากขึ้น โดยไม่ต้องมาคอยเหลียวหลังกังวลอย่างที่แล้วมา เรารู้สึกตื้นตันและสุดปีติในมิตรภาพของคุณ โดยจะมอบดีวีดีที่ระลึกของภาพยนตร์ และใส่ชื่อคุณในเครดิตบล็อกและใส่ชื่อคุณหรือหน่วยงาน / ผลิตภัณฑ์ ก่อนชื่อหนังในฐานะหนึ่งใน “ผู้อำนวยการสร้าง” คนสำคัญ อีกทั้งระบุชื่อบนเอกสารแจกประชาสัมพันธ์ รวมถึงเชิญมาดูหนังฉบับตัดต่อก่อนฉายจริง โดยสามารถเสนอความเห็นต่อทีมงานสร้างเพื่อการปรับปรุงหนังต่อไป รวมทั้งเชิญคุณมาชมภาพยนตร์ในส่วนที่นั่ง VIP ในการฉายรอบปฐมทัศน์และรอบอื่นๆ  

Level 5 PRODUCER (Pledge 100,000 Baht up)
All irksome worries vanish away in the face of your confidence inspiring presence. It enables us to focus more on the quality of the film. We will give you all of the above offers as well as one of the principal PRODUCERS of the film (listing above the title of the film), DVD and blog. In addition to a limited edition first-run DVD of the film, the FILMVIRUS team will be honoured to invite you, and your guest, to FILMVIRUS’ pre-screening when the film is finished. This will be an intimate, private showing of the film, aimed at vetting a first cut to industry and press professionals, and to celebrating its completion amongst friends. Your ideas will be consulted by the filmmakers for any improvement. You'll also receive VIP invitations to the opening’s ceremony of the film and any future festival screenings.

รายนามผู้สนับสนุน - Supporters' Names และบัญชีโอนเงิน (Domino Film Experiment’s Bank Account)

ที่จริงเขียนรายละเอียดการโอนเงินไว้ที่จุดอื่นแล้ว แต่หลายคนคงไม่เห็น เลยเอามาแปะที่นี่ใหม่

รายละเอียดประเภทของเงินสนับสนุน (Types of Pledges)


http://dominofilm.blogspot.com/2011/04/how-to-support-domino-film-experiment.html



โอนเงินเข้าบัญชีที่
: สนธยา ทรัพย์เย็น ธนาคาร ไทยพาณิชย์ สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 183-2-08740-2

Domino Film Experiment’s Bank Account


please address to: Mr. Sonthaya Subyen


Siam Commercial Bank, Central Pinklao
Savings account No. 183-2-08740-2
หลังจากโอนเงินแล้ว กรุณาส่งสำเนาใบนำฝากแจ้งให้เราทราบทางอีเมล filmvirus@gmail.com (หรือ filmvirus@yahoo.com) หรือ ทางแฟ็กซ์ที่เบอร์ 02-925-0141, หรือโทรศัพท์แจ้งทางมือถือ 086-490-6295 หลังจากนั้นเราจะบันทึกชื่อของท่านลงบล็อกภายใน 3 วัน นับจากที่ได้รับแจ้ง และอย่าลืมกรุณาระบุ ชื่อ-นามสกุลจริง หรือชื่อของหน่วยงานผู้สนับสนุน พร้อมที่อยู่และเลขที่บัญชี (ในกรณีที่ต้องติดต่อส่งเงินคืนหากทุนสร้างไม่พร้อม) ทางผู้จัดงานขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับทุกท่านที่ร่วมสนับสนุนค่ะ

After you made a transfer, please notify us by E-mail (filmvirus@gmail.com or filmvirus@yahoo.com or Fax: 02-925-0141, or by text message on mobile phone: 086-490-6295.

สำหรับการสนับสนุนด้านอื่น เช่น ในส่วนของแรงงาน อุปกรณ์ ผู้ร่วมแสดง ทีมงาน และสถานที่ หากใครไม่หวังผลตอบแทนนอกจากการรับประทานข้าวหม้อเดียวกัน สามารถติดต่อเราได้เช่นกัน

Other contributions involved instrument loans, cast, film crews, etc. are also welcomed.

รายนามทั้งหมด (เรียงลำดับวัน)
Supporters’ Names



(หมายเหตุ: เป็นความประสงค์ของผู้สนับสนุนบางท่านที่ไม่ต้องการจะระบุจำนวนเงิน ดังนั้นต่อไปนี้เราจะขอลงเฉพาะยอดรวมของจำนวนเงินทั้งหมดแทน ยกเว้นหน่วยงานหรือบริษัทที่จะคงตัวเลขไว้ แต่หากบุคคลใดอยากให้ระบุตัวเลขบริจาคของตัวเอง โปรดแจ้งให้เราทราบด้วย)


* 2 April 2011
1. อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (Advisor โครงการหนังโดมิโน่) ในนามของบริษัท Kick The Machine
2. สนธยา ทรัพย์เย็น (เจ้าของโครงการหนังโดมิโน่) ในนามของ Filmvirus
* 5 April 2011
3. ทรงยศ แววหงษ์ นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ผู้บุกเบิกวิกโรงหนังรังไข่ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว และเป็นผู้จัดรายการ “คุยกับหนัง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ และยังเป็นผู้แต่งหนังสือ “คุยกับหนัง”
* 7 April 2011
4. โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด แม่ค้าหนังสือ
* 9 April 2011
5. 'กัลปพฤกษ์' นักวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือ ปี 2547 และผู้แต่ง Asia 4, Queer Cinema for All และ “อนุทินรัก แอร์ฤกค์ โรห์แมร์”
* 12 April 2011
6. จิตร โพธิ์แก้ว คอหนังตัวจริงเจ้าของบล็อก Limitless Cinema
* 13 April 2011
7. ขอขอบคุณทีมงานหอศิลป์ Jim Thompson Art Center และห้องสมุด William Warren สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่ และอำนวยการรับรองแขกเหรื่อและสื่อมวชน สำหรับงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการหนังโดมิโน่
8. Roger Tonge, a former Executive Producer of BBC Television / Director of acclaimed
TV films such as WIDE GAMES and TWO OF US.
* 14 April 2011
9. คุณ วรงค์ หลูไพบูลย์ นักอ่านและคอหนังคนขยัน
* 17 April 2011
10. คุณ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง (Merveillesxx) นักเขียนและนักวิจารณ์อิสระ / อาจารย์พิเศษทางภาพยนตร์ ผู้ได้รับรางวัลวิจารณ์ของหม่อมหลวงบุญเหลือ ปี 2553 และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Third Class Citizen
* 27 April 2011
11. คุณ สุนทรี พโนรัตน์ หมอน 100 ปี
* 28 April 2011
12. วิกหนังรังไข่
* 30 April 2011
13. พลี ทรัพย์เย็น
* 1 May 2011
14. ด.ญ. สุฐิตา คุปติอัครภิญโญ
* 2 May 2011
15. ธีระเพลส บ้านฉาง จ. ระยอง
* 4 May 2011
16. อาดาดล อิงคะวณิช นักวิชาการภาพยนตร์
* 14 May 2011
17. จิตรลดา อุดมประเสริฐกุล
* 15 May 2011
18. สองแม่เด็กชาย คนุ
* 6 June 2011
19. Malee Berking

* 7 Aug 2011
20. ขอขอบคุณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และทีมงาน สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานที่เพื่อเป็นออฟฟิศให้โครงการหนังโดมิโน่เป็นเวลา 1 เดือน

* 10 July 2013
21.  ไกรวุฒิ จุลพงศธร


รวมยอดเงิน ณ ขณะนี้ = 109,424 บาท

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประวัติ คนทำหนังสั้น โครงการหนังโดมิโน่ 4 สหาย

ประวัติ คนทำหนังสั้น 4 สหายโดมิโน่ 

จุฬญาณนนท์ ศิริผล (เข้)

Chulayarnnon Siriphol

เกิด 2529 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ 

สาขาภาพยนตร์และวิดีโอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ผลงานภาพยนตร์

หัวลำโพง (Hua-Lam-Pong)
2547 / sound / color / Documentary / 12 นาที
รางวัล 2547 - รางวัลช้างเผือกพิเศษ (ชนะเลิศระดับนักเรียน) เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 8 
  จัดโดยมูลนิธิหนังไทย
- เข้ารอบสุดท้าย Young Thai Artist Award 2004 สาขาภาพยนตร์
  จัดโดย มูลนิธิซิเมนต์ไทย
เทศกาล
2548 - The 34th International Film Festival Rotterdam 2005, S.E.A. Eye Programme, 
  The Netherlands
- Luk-Ka-Pid-Luk-Ka-Perd : The Bangkok Invisible Landscapes (In Between  
  Project) , Thailand
2553 - 26th Hamburg International Short Film Festival, Germany

บ้านทรายทอง (Golden Sand House)
2548 / sound / color / Fiction-Documentary / 19 นาที
รางวัล 2549 - รองชนะเลิศรางวัลช้างเผือก (ระดับนักศึกษา) เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 10
  จัดโดย มูลนิธิหนังไทย
เทศกาล 2549 - The 4th World Film Festival of Bangkok, Thailand

เจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty)
2549 / sound / color / Experimental-Documentary / 40 นาที
รางวัล 2549 - ชนะเลิศรางวัลดุ๊ก (ประเภทสารคดี) เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 10
  จัดโดย มูลนิธิหนังไทย
เทศกาล
2549 - The 4th World Film Festival of Bangkok, Thailand
2550 - The 36th International Film Festival Rotterdam, Short: As Long As It Takes
  ,The Netherlands
  - Southeast Asian Digital Cinema, Singapore
  - Head Or Tail? : Contemporary Media and Video works from Thailand, Ireland

วัตถุทรงกลม (Round Object)
2550 / silent / color / Experimental / 2 นาที 
เทศกาล
2551 - The 5th Bangkok Experimental Film Festival (BEFF5), Thailand

1013
2550 / sound / black & white / Fiction-Experimental / 10.13 นาที 

เทศกาล
2551 - The 5th Bangkok Experimental Film Festival (BEFF5), Thailand
2553 - “WELL DONE, MEDIUM & RARE” 10 FRESH THAI SHORT FILMS & 
  MUSIC VIDEOS : 9 ตุลาคม 2553 ณ โรงภาพยนตร์ HOUSE RCA

จุฬญาณนนท์ (Chulayarnnon)
2551 / silent / black & white / Experimental / 3 นาที 

เทศกาล
2551 “ ล่อง/รอย” ( Remains ) 10 หนังสั้น ทาขึ้นใหม่แด่การจากไปของ
  กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรท์ปี 2539
- The 5th Bangkok Experimental Film Festival (BEFF5), Thailand
2552 - เข้ารอบสุดท้าย Up and Coming Film Festival Hannover, Germany

ภัยใกล้ตัว (ฉบับผู้กำกับ) / Danger (Director’s cut)
2551 / silent / color / Fiction-Experimental / 14 นาที 

รางวัล
2551 - รางวัลช้างเผือก (ชนะเลิศระดับนักศึกษา) เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 12
  จัดโดย มูลนิธิหนังไทย

วิญญาณ (Spirits)
2552 / sound / color / Experimental / 5.30 นาที 

เทศกาล
2552 - “Experimental film inspired by Qbar” : 6 มิถุนายน 2552 ณ Qbar สุขุมวิท 11
2553 - The 8th World Film Festival of Bangkok, Thailand

คาราโอเกะเพลงแผ่เมตตา (Karaoke: Think Kindly)
2552 / sound / color / Music Video / 5 นาที
รางวัล
2552 ชนะเลิศการประกวด “โรงหนังประชาชน” (ครั้งที่ 2) ตอน "เปลี่ยน" จัดโดย แรง 
คิดทีวี
เทศกาล
2552 - “วาทกรรมคนบาป” (The Sinner's discourse) - พื้นที่แห่งการสารภาพ ความรู้สึก
  ผิด การชาระล้าง ผ่านงานวีดีโอ
- “หนัง=สังคม” : เหลืองกับแดงกับคนอื่นๆ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์
2553 - 6th Singapore Short Film Festival, S-Express:Thailand, Substation, Singapore

แบบทดสอบวิชาการเมืองไทยร่วมสมัย (Thai Contemporary Politics Quiz)
2553 / silent / color / Experimental / 8 นาที
เทศกาล
2010 - “In the Realm of Conflict 2” : เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 14
  จัดโดย มูลนิธิหนังไทย
2011 - “Political Collect” : Wild Type 2011 by Filmvirus @ The Reading Room,  
  Bangkok, Thailand

ประวัติศาสตร์ขนาดย่อของความทรงจา (A Brief History of Memory)
2553 / sound / black&white / Experimental-Documentary / 14 นาที
เทศกาล
2010 - หนึ่งในหกภาพยนตร์สารคดีสั้น “อีเลี้ง” : 9 ตุลาคม 2553
  ณ โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี ตลาดนางเลิ้ง
2011 - “Political Collect” : Wild Type 2011 by Filmvirus @ The Reading Room,  
  Bangkok, Thailand

------------------------------------------------------------------

วชร กัณหา (ไกด์) 

Wachara Kanha

เกิดและเติบโตที่กรุงเทพมหานคร สนใจในเรื่อง ภาพยนตร์ ศิลปะ และ ดนตรี เริ่มมีความสนใจศิลปะด้านภาพยนตร์เมื่อวัยเด็กเพราะครอบครัวชอบดูหนัง เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นสร้างงานศิลปะพร้อมกับการศึกษาด้านภาพยนตร์  

เมื่อจบการศึกษาชั้นปวส. เพาะช่าง สาขาออกแบบ เอก ศิลปะการถ่ายภาพ จึงได้ไปศึกษาวิชาภาพยนตร์โดยตรง ที่มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี คลอง 6 คณะ เทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาวิชา การถ่ายภาพและภาพยนตร์ (ยังกำลังศีกษา) 

มีความหวังว่าจะทำงานศิลปะภาพเคลื่อนไหวนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะมันคือความสุขที่ได้สร้างมันออกมาจากจินตนาการ 
 
ปัจจุบันทำงาน ช่างภาพอิสระ และผู้สร้างสรรค์ศิลปะภาพเคลื่อนไหว อาชีพ รับจ้างทำทุกอย่าง
 
มีผลงานหนังสั้น – หนังทดลอง - วีดีโออาร์ต ประมาน 40 เรื่อง
ผลงานเรื่องเฟื่อง เข้ารอบสุดท้ายมูลนิธิหนังไทยครั้งที่ 14
ผลงานอีกหลายเรื่องที่ได้เข้ารวมเทศกาลหนังสั้นในประเทศไทย
 
ผลงานหนังเล่าเรื่องที่ได้ออกสื่อโทรทัศน์
เรื่องยุวธิปไตย รายการสิบปากกาหน้าเลนส์ กำกับรวม เขียนบทรวม กำกับภาพและดำลับภาพ
เรื่องหลอกผี รายการสิบปากกาหน้าเลนส์ ฝ่ายอาร์ต
เรื่องมิเชล รายการสิบปากกาหน้าเลนส์ ฝ่ายอาร์ต
 
ผลงานการทำงานที่เกี่ยวกับสื่อภาพยนตร์สั้น
การทำงานที่เกี่ยวกับการเป็นพี่เลี้ยงสอนทำหนังสั้นตามค่ายต่างๆ
เป็นพี่เลี้ยงค่ายอบรมหนังสั้นของสยามกัมมาจลและฟิ้ว
เป็นวิทยากร เทศกาลภาพยนตร์ กินแหนงแคลงใจ
เป็นพี่เลี้ยงอบรมทำหนังสั้นโครงการ RECOFTC
เป็นพี่เลี้ยงสอน โครงการประกวดหนังสั้น สสส.
เป็นวิทยากรให้เด็กในโครงการของสยามกัมมาจล
 
ปัจจุบัน วชร กัณหา มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างงานศิลปะภาพเคลื่อนไหวด้วยความสุข คงหวังเพียงที่จะได้สร้างผลงานเพื่อให้มีคนได้รับชม
 
ประวัติผลงานหนังสั้น (บางส่วน)

ปลายทางแห่งความรักที่ไม่มีวันเลือนลาง
2006/15 min/colour/sound/DV/drama

พ่อครับ..ผมรักพ่อ
2007/10 min/sound/film/drama

กระต่ายในดวงจันทร์
2007/3 min/colour/DV

เพียงหลับใหลในเงามืด
2007/15 min/colour+black and white/DV

มนุษยธรรม
2008/14 min/colour+black and white/DV/drama

รักเธอครั้งแรกรักเขาครั้งสุดท้าย
2009/14 min/colour/sound/film-DV/romantic-lonely

HUNTER THE BAG
2009/17 min/colour/sound/DV/action-comedy
Shown in the 14th Thai Short Film and Video Festival
Shown in the 1st Doi Saket International Film Festival

สุดถวิลหา
2010/18 min/colour+black and white/DV
Director – Wachara Kanha, Wisit Saonoi

คำพิพากษาของความรัก
2010/25 min/colour+black and white/DV/drama-murder

แกะแดง
2010/40 min/colour/sound/DV/documentary
Director/screenwriter/cinematographer – Wachara Kanha, Teerani Siangsanoh, Tani Thitiprawat
Editor – Wachara Kanha
Shown in the 14th Thai Short Film and Video Festival
Shown in the 1st Doi Saket International Film Festival

เฟื่อง
2010/30 min/colour+black and white/DV/home video
Director/screenwriter/cinematographer – Wachara Kanha, Teerani Siangsanoh, Tani Thitiprawat
Editor – Wachara Kanha
Shown in the 1st Doi Saket International Film Festival

ยุวธิปไตย
2010/17 min/colour/sound/DV/drama
Director – the workshop team of the TV program "TEN PENS IN FRONT OF THE LENS"
Screenwriter – Wachara Kanha, Wut Poomin, Grittiya Gaweejarugorn
Editor – Wachara Kanha
Broadcasted by Thai PBS channel


FILMVIRUS
2010/12 min/colour/sound/DV
Director/screenwriter – Teerani Siangsanoh, Wachara Kanha
Cinematographer – Teerani Siangsanoh
Editor – Wachara Kanha
Participated in the program "BURN FILMVIRUS"

ประถมบทแห่งการเริ่มต้นใหม่ (ของฉัน)
2010/14 min/DV/moving images-essay
Director -- Wachara Kanha
Participated in the program "BURY THE MEMORY: BOTANICAL EXPERIMENTAL LAB"

BLUE BLANK
2010/50 min/colour/sound/DV/investigation
Director/screenwriter/production designer and art director/editor – Wachara Kanha
Participated in the program "BURY THE MEMORY: BOTANICAL EXPERIMENTAL LAB"

เชลยแห่งความรัก
2010/30 min/colour+black and white/sound/DV/romantic
Director/screenwriter/production designer and art director/editor – Wachara Kanha
Participated in the program "BURY THE MEMORY: BOTANICAL EXPERIMENTAL LAB"

พายายหมอนไปชมสวน
2010/14 min/colour+black and white/DV
Director – Wachara Kanha

------------------------------------------------------------------

รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค (อุ้ย)

Ratchapoom Boonbunchachoke

รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค เกิดปีเถาะตามตำรานับปีนักษัตริย์จีน เป็นโรคกลัวโรงหนังในวัยเด็ก และมีความปรารถนาจะเป็นนักเขียนก่อนจะหันเหมาสนใจงานภาพยนตร์ จนได้ศึกษาต่อทางสาขานี้ ต่อมาได้จบการศึกษาจากภาควิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์ขนาดสั้นเพื่อจบการศึกษาของเขา ‘ของเหลวที่หลั่งจากกาย’ หรือ Bodily Fluid is so Revolutionary (2009) และต่อมาได้รับการคัดเลือกให้ติด 1 ใน 100 หนังไทยแห่งทศวรรษโดยนิตยสาร Bioscope ต่อมาทำงานเป็น Programming Assistant ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพปี 2009 ก่อนจะมาทำงานเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์เชิงพานิชย์ในอุตสาหกรรม แต่ก็มีแรงกระตือรือร้นในการทำหนังแบบที่ตัวเองชอบเสมอ ๆ 

Filmography

Ma vie incomplet et inachevee' (2007) 4 mins / DV / Color / Stereo (animation)

2010: Don't Mess with Us: Filmvirus and Friends (Short Films and MV) @Thammasat University Library
2011: Chaingmai Now @Bangkok Art and Culture Centre

เกมโบกรถ (2007) 14 mins / DV / Color / Stereo
2011: Chaingmai Now @Bangkok Art and Culture Centre

เงือกสวมกางเกง : หนังเงียบ (2007) 7 mins / DV / Color / Stereo
2009: ฉันอยู่นี่ เซ็นเซอร์ที่รัก @pridiinstitute
2010: Bangkok International Student Film Festival @Bangkok Art and Culture Centre
2011: Chaingmai Now @Bangkok Art and Culture Centre

ชุติมา (2007) 16 mins / DV / Color / Stereo (สร้างจากบทกวีรางวัลซีไรต์ของ มนตรี ศรียงค์)
2010: Don't Mess with Us: Filmvirus and Friends (Short Films and MV) @Thammasat University Libraries
2011: Chaingmai Now @Bangkok Art and Culture Centre

...ออกเสียงไม่ได้ในจักรวรรดิทางภาษาของคุณ …Unpronounceable in the Linguistic Imperialism of Yours (2008) 4 mins / DV / Color / Stereo
2008 : VERY SHORT NEW YEAR CINE-BRATION@Bioscope Theatre
2008 : REVISITED @Chulalongkorn University
2008 : Phuket @BO{OK}HEMIAN ARTHOUSE Phuket

ของเหลวที่หลั่งจากกาย Bodily Fluid is Revolutionary (2009) 41 mins / DV / Color / Stereo
2009: Digital Forum 13th Thai short film and video festival @Bangkok Art and Culture Centre
2009: WILD TYPE : FILMVIRUS SHORTS! @Jamjuree Gallery
2009: The 9th World Film Festival of Bangkok 
2010: Contemporary Thai Short Films @ THE READING ROOM
2010: Bangkok International Student Film Festival @Bangkok Art and Culture Centre
2011: Chaingmai Now @Bangkok Art and Culture Centre

------------------------------------------------------------------

เฉลิมเกียรติ แซ่หย่อง (ตี๋)

Chaloemkiat Saeyong

เกิดที่กรุงเทพปี 2530 โตที่สมุทรปราการ และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในวัยเด็กที่กรุงเทพ สมุทรปราการและเชียงรายเริ่มทำสื่อภาพเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2550
 
ปี 2553 จบการศึกษาทางด้านถ่ายภาพและภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ปัจจุบันยังทำงานเกี่ยวกับสื่อภาพเคลื่อนไหวอยู่เนื่อง ๆ 
2553 YOUNG INDEPENDENT THAI DIRECTORS BY INDIAN AUTEUR MAGAZINE 
(JANUARY 2010
2554 FILMMAKER, THIRD CLASS CITIZEN 3RD ANNIVERSARY CINE-BRATION POSTCARD CINEMA
Contact : Email: taikmeolahc@hotmail.com
  
ผลงาน
Reverse
2550 / 10 นาที / สี / เสียง / ดีวี / เรื่องแต่ง 
ฉายที่
2550 : FAT FILM COMPETITION , THAILAND
2551 : SHORT 12 [FIRST ROUND] BY THAI FILM FOUNDATION
2551 : 9th Movie Mania Awards, Faculty of Communication , Chulalongkorn University,  
  Bangkok, Thailand

DemoCrazy
2551 / 41 วินาที / สี / เสียง / มือถือ / สารคดีทดลอง
ฉายที่ 
2551 : 9th Movie Mania Awards, Faculty of communication, Chulalongkorn University, 
  Bangkok, Thailand

Requiem
2551 / 2.50 นาที / สี / เสียง / มือถือ / วีดีทัศน์ดนตรี
ฉายที่ 
2551 : PLEASE PEACE ME , BMA Contemporary Art Museum, THAILAND
   
กู่ก้องบอกรักนิรันดร (Peru time) 
2551 / 18 นาที / สี / เสียง / ดีวี / สารคดีทดลอง 
ฉายที่
2552 : SHORT 13 [FIRST ROUND] BY THAI FILM FOUNDATION
2553 : The 1st Doi Saket International Film Festival

สถานต่างอากาศ (A PLACE OF DIFFERENT AIR) 
2551 / 24 นาที / สี / เสียง / ดีวี / สารคดีทดลอง
ฉายที่
2552 : SHORT 13 [FIRST ROUND] BY THAI FILM FOUNDATION
2554 : FilmVirus Shorts: Wild Type 2011 @ The Reading Room

ใบหยก
2551 / 2.52 นาที / สี / เงียบ / มือถือ / สารคดีทดลอง 
ฉายที่
2553 : The 1st Doi Saket International Film Festival

ฆาตรกรรมสวาท ประหลาดน่านฟ้า ทำให้คนหายตัวไป 
(POLITICALLY LAWYER AND NARRATIVE CINEMA)
2552 / 27 นาที / สี / เสียง / ดีวี / เรื่องแต่ง 
ฉายที่
2552 : SHORT 13 [FIRST ROUND] BY THAI FILM FOUNDATION
2552 : WILD TYPE : FILMVIRUS SHORTS! @ jamjuree art gallery
2553 : Contemporary Thai Short Films @ The Reading Room
2553 : Bangkok International Student Film Festival : Experimental Experience program
2553 : The 1st Doi Saket International Film Festival

บุคคลที่ตกค้างอยู่ภายในความทรงจำ (History in the air)
2552 / 58 นาที / ขาวดำ / เสียง / 16 มม. / ดีวี / สารดคดี 
ฉายที่
2554 : FilmVirus Shorts: Wild Type 2011 @ The Reading Room
2554 : Burials of Lost Memories: Before Forgetfulness Consumes @ Pridi Banomyong  
  Institute

คำพิพากษาของซาตาน (Chay,Gayvah-rar ‘n’ the Machupicchu)
2553 / 21 นาที / สี / เสียง / ดีวี / เรื่องแต่ง 
ฉายที่
2553 : Nominated for The White Elephant Award 
  in 14th Thai Short Film and Video Festival BY THAI FILM FOUNDATION
2553 : The 1st Doi Saket International Film Festival
2554 : FilmVirus Shorts: Wild Type 2011 @ The Reading Room
2554 : Burials of Lost Memories: Before Forgetfulness Consumes @ Pridi Banomyong 
  Institute

พิพิธภัณฑ์แห่งแสง (employees leaving the Lumiere factory)
2553 / 31 นาที / สี / เสียง / ดีวี / เรื่องแต่ง 
ฉายที่
2553 : The 1st Doi Saket International Film Festival
2554 : FilmVirus Shorts: Wild Type 2011 @ The Reading Room
2554 : Burials of Lost Memories: Before Forgetfulness Consumes @ Pridi Banomyong  
  Institute

ลับเฉพาะเสี่ย (Something happen in the BLUE condo)
2553 / 19 นาที / สี / เสียง / 16 มม. / เรื่องแต่ง 
ฉายที่
2553 : Bangkok International Student Film Festival 
2553 : SHORT 14 [FIRST ROUND] BY THAI FILM FOUNDATION

เที่ยวเล่นที่สิงคโปร์ ชวา บาหลี 
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2742 (afternoon landscape)
2553 / 1.30 นาที / สี / เสียง / มือถือ / เรื่องแต่ง 
ฉายที่
2554 : THIRDCLASSCITIZEN : POSTCARD CINEMA 
  @ TEA SHOP THAIFILM FOUNDATION BMA Contemporary Art Museum, 

  THAILAND

(ขอบคุณข้อมูลของ วชร และภาพของ เฉลิมเกียรติ จาก Limitless Cinema)